เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 52
ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้สภาพอากาศที่ จ.เชียงใหม่ ยังน่าเป็นห่วง
ค่าดัชนีมลพิษทางอากาศอันหนึ่งของเมืองเชียงใหม่คือ "ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน" (หรือค่า PM10) ได้ทะลุค่ามาตรฐานไปเรียบร้อยแล้ว
โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา สถานีวัดสภาพอากาศโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยวัดได้ว่าสูงถึง 146.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้คือไม่ควรเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ในค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง)
ที่แย่ไปกว่านั้นคือคาดการณ์ว่ากว่าจะหมดเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนที่ "วิกฤตที่สุดของทุกปี" ชาวเชียงใหม่ก็คงจะต้องเผชิญกับสภาพหมอกควันที่รุนแรงกว่านี้อีกมาก และอาจรุนแรงอย่างเช่นที่เคยเจอเมื่อปี 2550 ที่อากาศทั่วเชียงใหม่ถูกหมอกควันปกคลุมทั่วไปหมด จนต้องใส่หน้ากากกันฝุ่นควันเมื่อต้องออกจากบ้าน
ดังนั้น คงถึงเวลาที่ชาวเชียงใหม่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สาเหตุของสภาพหมอกควันของเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมทุกปี เป็นเพราะว่าจังหวัดเชียงใหม่มีลักษณะทางภูมิประเทศเป็น "แอ่งกระทะ" การเผาไหม้เศษพืชที่เหลือใช้ทางเกษตรกรรม การเผาไหม้เศษใบไม้ในครัวเรือน และการเกิดไฟไหม้ป่า เป็นสาเหตุสำคัญของการสะสมฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้มีขนาดเล็กมากจนมีขนาดเพียงหนึ่งในห้าของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์
สภาวะอากาศที่นิ่งในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมจะทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้สามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นานโดยไม่ตกลงสู่พื้นดิน เกิดสะสมในอากาศกลายเป็นมลพิษหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน
ผลเสียจากการมีสภาพมลพิษทางอากาศคือ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืดหอบ ผู้สูงวัย และเด็กเล็ก จะมีอาการแพ้อากาศรุนแรง มีอาการคออักเสบ มีน้ำมูก ไอ จาม และมักมีอาการโรคตาแดงร่วมด้วย
โดยในปี 2551 มีข่าวว่าได้มีบางโรงพยาบาลถึงกับยาหยอดตาในคลังยาหมดไปก็มี และอาจสังเกตได้ว่าเชียงใหม่มีผู้เป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นทุกปี ฝุ่นละอองขนาดเล็กมากนี้หากสูดหายใจเข้าไปในปอดโอกาสที่จะเกิดการสะสมในถุงลมและก่อให้เกิดการระคายเคืองก็ย่อมมีมาก ซึ่งก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งปอดและถุงลมได้
สภาพมลพิษทางอากาศนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศตัดสินใจยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวเชียงใหม่ ภาพลักษณ์ด้านลบนี้หากไม่ช่วยกันแก้ไขก็อาจติดเป็นภาพลักษณ์ในระยะยาวและเป็นชื่อเสียงในด้านลบที่ชาวเชียงใหม่ก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้น
ผศ.ธีระพงษ์ได้ให้คำแนะนำว่า "แนวทางหนึ่งในการลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กดังกล่าวก็คือ ควรเร่งแก้ปัญหาในทันที รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนงดการเผาทำลายเศษพืชภายในชุมชนหรือหน่วยงาน งดการเผาเศษพืชในที่โล่งแจ้ง มีมาตรการลงโทษตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างจริงจังสำหรับผู้ที่มักง่ายและไม่เห็นแก่ส่วนรวม โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ควรจะเป็นแกนนำสำคัญในการลุกขึ้นมาแก้ปัญหา เพราะจะสามารถระดมความรู้และสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาได้แบบองค์รวมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน"
หากมีผู้ถามว่าถ้าไม่ให้เผาเศษพืชแล้วจะให้ทำอย่างไร คำตอบคือ ควรนำเศษพืชมาทำประโยชน์โดยทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีมูลค่า หากช่วยกันคนละไม้คนละมือ ละเว้นการเผาทำลาย สักวันหนึ่งวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศของเชียงใหม่จะดีขึ้นแน่นอน
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีฐานเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษพืชมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้าชมการสาธิตฟรี
ฐานเรียนรู้แห่งนี้มีการสาธิตการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษพืชในครัวเรือน รวมทั้งการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษพืชระบบกองเติมอากาศที่เหมาะกับการผลิตในเชิงพาณิชย์
ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า 470 แห่งทั่วประเทศได้ให้ความสำคัญและได้จัดสรรงบประมาณให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษพืชแทนการเผาทำลาย ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งการลดมลพิษทางอากาศภายในชุมชน ได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้เพื่อบำรุงดินและลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยังอาจขยายผลไปสู่ธุรกิจวิสาหกิจชุมชนหรือการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีความยั่งยืนและพอเพียงได้อีกด้วย
วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษพืชในระดับครัวเรือนนั้นแสนจะง่าย เพียงนำเศษใบไม้ที่รวบรวมไว้ 3 ส่วนผสมคลุกเคล้ากับมูลสัตว์ 1 ส่วน รดน้ำให้พอชุ่มชื้น (มูลสัตว์อาจจะเป็นมูลโค มูลไก่ หรือมูลช้างก็ได้) ผสมคลุกเคล้าวันละ 1-2 ครั้งเป็นเวลา 30 วัน โดยในระยะ 30 วันนี้ให้คอยตรวจสอบความชื้น อย่าให้กองปุ๋ยแห้งเกินไปหรือเปียกโชกเกินไป
หากแห้งไปก็ให้พรมน้ำเพิ่มเล็กน้อย การกองปุ๋ยอาจกองบนพื้นดินกลางแจ้งก็ได้ หรืออาจจะทำในถังหรือกะละมังพลาสติกก็ได้ เมื่อครบ 30 วันก็ทิ้งไว้ให้แห้ง หลังจากนั้นก็นำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้เลย
จะเห็นว่าวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ตามแบบของคณะวิศวกรรมแม่โจ้นั้นแสนจะง่าย ไม่ต้องใช้น้ำหมัก กากน้ำตาล รำข้าว หัวเชื้อตัวเร่ง หรืออีเอ็มใดๆ
ขอมีเพียงเศษพืชและมูลสัตว์สองอย่างเท่านี้ก็ได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้แล้วโดยไม่ต้องเผาทำลาย
ท่านที่สนใจอาจเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ www.compost.mju.ac.th หรืออาจติดต่อเข้าชมการสาธิตที่ฐานเรียนรู้ ได้ที่ ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 0-5387-5563 โทรสาร 0-5349-8902 ในวันและเวลาราชการ
ถ้ารณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันปฏิบัติได้จริงก็น่าจะช่วยลดมลภาวะลงได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROeVlXb3dOVEkzTURJMU1nPT0=§ionid=TURNek1RPT0=&day=TWpBd09TMHdNaTB5Tnc9PQ==