เพิ่มแหล่งปลูกพืชอาหารและพืชพลังงาน 5 ชนิด ในโครงการนิคมการเกษตร
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 52
เพิ่มแหล่งปลูกพืชอาหารและพืชพลังงาน 5 ชนิด ในโครงการนิคมการเกษตร
ความไม่แน่นอนในเรื่องของราคาพลังงานที่ต้องนำเข้ามาใช้ของประเทศไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เข้ามามีผลต่อแนวคิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ให้กับประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยในกรณีของพืชอาหาร ที่อาจจะมีส่วนเชื่อมโยง อย่างเป็นนัยสำคัญกับการผลิตพืชพลังงานดังที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ล่าสุด นายเลอพงษ์ มุสิกะมาน รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางแนวทางในการปรับโครงสร้างการผลิตทางด้านการเกษตร โดยจะปรับปรุงเรื่องการผลิตของการเกษตรในกลุ่มพืชอาหารและพืชพลังงาน ซึ่งได้กำหนดมี 5 ชนิดด้วยกัน ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และอ้อย สำหรับเป้าหมายของการดำเนินโครงการนิคมการเกษตร ก็เพื่อมุ่งให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้โดยจะส่งเสริมวิธีคิดและการบริหารจัดการแบบผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อบริโภคและการผลิตเพื่อลดรายจ่าย สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม
ทั้งนี้ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการนิคมการเกษตร ในนิคมสหกรณ์ 4 แห่ง ได้แก่ นิคมโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ทำในเรื่องของมันสำปะหลังซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ 15,000 ไร่ โดยทำเฟสแรก 5,000 ไร่ นิคมดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ทำเรื่องของอ้อย พื้นที่ทั้งหมด 20,000 ไร่ ทำเฟสแรก 10,000 ไร่ นิคมท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน มีพื้นที่ทั้งหมด 15,000 ไร่ ทำเฟสแรก 5,000 ไร่ และนิคมแม่สอด จังหวัดตาก เกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ทั้งหมด 15,000 ไร่ ทำเฟสแรก 5,000 ไร่ ซึ่งการทำในเฟสแรกของแต่ละนิคมจะใช้ระยะเวลาไม่เท่ากันเพราะจะขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิด อย่างเช่น มันสำปะหลังจะใช้เวลาการผลิต 12-14 เดือน แต่ข้าวโพดใช้ระยะเวลาการผลิต 4-5 เดือนเท่านั้น
พร้อมกันนี้ก็จะให้สหกรณ์เป็นแกนหลักในการพัฒนาและดำเนินการตามโครงการนี้ เพราะสหกรณ์มีสมาชิกอยู่แล้ว โดยหน่วยงานหลักของกระทรวงเกษตร ฯ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน อย่างเรื่องดิน ทางกรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปตรวจสอบ เรื่องน้ำเป็นหน้าที่ของกรมชลประทาน ทางด้านพันธุ์พืชเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ส่วนการส่งเสริมก็เป็นกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะเข้าไปดูแลและให้คำแนะนำในส่วนที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบและดูแลอยู่
ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและดูแลสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อมีผลผลิตออกมาก็จะเชื่อมโยงกับการตลาดโดยใช้สหกรณ์เป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงกัน อย่างที่นิคมแม่สอด จังหวัดตาก ก็มีการเซ็นสัญญาข้อตกลง การรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมกับผู้ชื้อ
และสิ่งที่ขาดไม่ได้เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย ก็จะมีตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ โดยสหกรณ์แต่ละแห่งในพื้นที่ และกรมส่งเสริมสหกรณ์จะดำเนินการสำรวจข้อมูลสมาชิกรายคน เพื่อเป็นฐานข้อมูลว่าปริมาณผลผลิตก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการมีปริมาณเท่าไร พอเข้าร่วมโครงการแล้ว มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน รายรับรายจ่ายเป็นอย่างไร โดยโครงการจะเริ่มภายในปีฤดูกาลเพาะปลูก 2552 นี้ ทั้งนี้จะมีการรับสมัครสมาชิกเพื่อเข้าโครงการและจะจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ พร้อมกับให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาตลอดโครงการอีกด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพัฒนาให้กระบวนการผลิตของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย และที่สำคัญเป็นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงฯ ที่เรียกได้ว่าก้าวเดินอย่างพร้อมเพรียงและสอดรับซึ่งกันและกัน ซึ่งหากเป็นไปอย่างราบรื่นก็น่าจะยอมรับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการแก้ไขปัญหาด้านพืชพลังงานเพื่อพลังงานทดแทนของประเทศและด้านการตลาดให้กับผลผลิตพืชอาหารของเกษตรกรไทยอย่างครบวงจรนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191974&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า