เปิดตัวเครื่องมือใหม่ของสหกรณ์ไทย สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจและสังคม
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 52
เปิดตัวเครื่องมือใหม่ของสหกรณ์ไทย สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจและสังคม
สหกรณ์ นับเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งที่ก่อตั้งโดยสมาชิกเพื่อสมาชิก ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วยบทบาททั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ ตลอดถึงผู้บริหารสหกรณ์ในเวลาเดียวกัน ทำให้การบริหารจัดการสหกรณ์บ่อยครั้ง สร้างความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสมาชิก ตัวอย่างเช่น สมาชิกในฐานะลูกหนี้ต้องการดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำในขณะที่สมาชิกในฐานะผู้ถือหุ้นต้องการผลตอบแทนที่สูง ดังนั้นสหกรณ์จึงมีหน้าที่สร้างความสมดุลของกำไรที่เกิดจากการทำธุรกรรมร่วมของสมาชิกในแต่ละบทบาท
นายเกรียงศักดิ์ บุณยะสุต รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ฐานะโฆษกกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นอกจากมีภารกิจหลักในการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลและศูนย์เตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์ โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตรมีสมาชิกกว่า 6 ล้านคน ที่กำลังตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ส่วนวิจัยและพัฒนาสารสนเทศทางการเงิน สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงจัดทำโครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์และวัดผลมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจและสังคม (Social and Economic Value Added : SEVA : “ซีว่า”) ของสหกรณ์ภาคการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจทางการเงิน เน้นการสร้างมูลค่าด้วยการผสมผสานแนวคิดทางสังคม เพื่อสร้างศักยภาพการบริหารจัดการทางการเงินกับธุรกิจของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพและมั่นคงระยะยาว
ปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้พัฒนาซีว่าให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจทางการเงินของผู้บริหารสหกรณ์ภาคการเกษตร มิใช่วัดผลการบริหารของฝายบริหารของสหกรณ์ และเพื่อให้เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้งานได้สะดวกและง่าย จึงนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาผนวกเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อ “ซีว่า 2009”
นางผาณิต บูรณ์โภคา ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาสารสนเทศทางการเงิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า “ซีว่า 2009” ถูกออกแบบและพัฒนาเป็นระบบงานที่สามารถใช้งานง่าย สามารถคำนวณ ส่งสัญญาณภาพ และให้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ โดยมีทางเลือกการบริหารจัดการทางการเงินด้วยตัวขับเคลื่อนมูลค่า 3 ประเภทให้เลือกใช้ ได้แก่ ตัวขับเคลื่อนมูลค่าทางการเงิน ทางการดำเนินงาน และทางสังคม ซึ่งมีหลากหลายแนวทางให้เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถต่อยอดเพิ่มแนวทางปฏิบัติได้เองด้วย ตัวขับเคลื่อนปัจจัยผลักดันมูลค่าเพิ่มนี้จะช่วยนำไปสู่การตัดสินใจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี
นางผาณิต กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 57 ปี ในเดือนมีนาคมนี้ กรมฯ ได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี และจัดงานเปิดตัว “ซีว่า 2009” อย่างเป็นทางการ โดยภายในงานจะมีการสัมมนาทางวิชาการเรื่องมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ และการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญหลายองค์กรมาให้ความรู้ พร้อมกันนี้ได้นำนวัตกรรมทางการเงิน “ซีว่า 2009” หรือเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจและสังคม ให้ผู้สนใจได้ทดลองใช้งานประกอบคำแนะนำจากทีมงานพัฒนาที่บูธนิทรรศการแสดงผลงานอีกด้วย
หากมีข้อสงสัยและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ส่วนวิจัยและพัฒนาสารสนเทศทางการเงิน สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โทรศัพท์ 0-2628-5240-59 ต่อ 4301-4306 หรือผ่านทางเว็บไซต์
http://statistic.cad.go.th
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 มีนาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=192219&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า