'ข้าวไทย' ต่อยอดด้านเภสัชกรรม พบสารลดคอเลสเตอรอลในเลือด
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 52
'ข้าวไทย' ต่อยอดด้านเภสัชกรรม พบสารลดคอเลสเตอรอลในเลือด
คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เชียงใหม่ นำแนวคิดพัฒนา “ข้าวไทย” มาต่อยอดด้านเภสัชกรรม เพื่อการแก้ปัญหาโรคไขมันในเลือดหรือสารคอเลสเตอรอลสูงในเลือด ซึ่งเป็นเรื่องที่คุกคามสุขภาพของคนไทย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งจัดเป็นสาเหตุการตายในระดับต้น ๆ ของคนไทย ในยุคบริโภคนิยมตามกระแสตะวันตก
รศ.ดร.สุรพล นธการกิจกุล หัวหน้าคณะวิจัย เรื่อง การผลิตสารลดไขมันในเลือดโดยวิธีชีวสังเคราะห์จากเชื้อโมเนสคัส เปอร์เปอร์เรียสในข้าวไทย กล่าวว่า ผลการวิจัยข้าวด้วยการแปรรูปโดยวิธีชีวสังเคราะห์ด้วยเชื้อโมเนสคัส
(Monascus spp.)ในข้าวได้พบสารโมนาโคลิน เค (Monacolin K) ซึ่งมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล ในเลือดเทียบเท่ายาลดไขมันในเลือดที่มีจำหน่ายในท้องตลาด และสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ซึ่งช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาสารคอเลสเตอรอลสูงมีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ค้นพบปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อกระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อให้ได้สารโมนาโคลิน เค ที่สามารถลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ปริมาณสูงสุด และลดการเกิดสารสังเคราะห์ตัวอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือ การเลือกสายพันธุ์ของเชื้อราในกลุ่มโมเนสคัส (Monascus spp.) การเลือกประเภทของธัญพืช สภาวะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น สารอาหารที่จำเป็น ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการหมักส่วนการศึกษาเชิงคุณค่าทางยาในด้านเภสัชกรรมนั้น มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาต่อในรูปแบบของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้พบว่า การควบคุมปริมาณการผลิตสารโมนาโคลิน เค เพื่อลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดนั้น สามารถมีทางเลือกในรูปแบบของอาหาร โดยผู้วิจัยได้ทดลองนำข้าวไทยพันธุ์ชัยนาท ทั้งในรูปแบบข้าวขาวเม็ดยาว ข้าวหัก และข้าวกล้อง เมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าการหมักเชื้อราในข้าวที่ขัดสีที่ผ่านชีวสังเคราะห์นั้นมีปริมาณสารโมนาโคลิน เค มากกว่าข้าวที่ไม่ขัดสี อย่างไรก็ตามจะต้องมีการศึกษาคุณค่าอาหารด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม
ผลการวิจัยครั้งนี้ จะนำไปสู่การป้องกันรักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูงในคนไทยในรูปแบบอาหารประจำวันหรืออาหารเสริมสุขภาพ หรือเป็นรูปอาหารผงเพื่อผสมในอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเมื่อคำนวณต้นทุนของค่าใช้จ่ายแล้วจะพบว่าต้นทุนใกล้เคียงกับยาลดไขมันในเลือดที่ผลิตจำหน่ายในประเทศไทยและไม่ต้องพึ่งยาที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าหลายเท่าตัว
ดังนั้นการแปรรูปข้าว เพื่อการสร้างสารโมนาโคลิน เค จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าทั้งในด้านราคา และมูลค่าด้านสุขภาพที่ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือนำมาเป็นการแปรรูปเพื่อการดูแลกลุ่มผู้มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง ตลอดจนผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคตับหรือไต สามารถปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรในการบริโภคในรูปอาหารหรือเสริมอาหาร
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุรพล ได้ย้ำประเด็นของคุณภาพมาตรฐานในการผลิตเพื่อต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมว่า จะต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เพียงพอ จึงจะเป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและควรมีการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้ขั้นตอนการแปรรูปเป็นไปอย่างมีทิศทางทั้งในระดับครอบครัวชุมชนและอุตสาหกรรมระดับส่งออก
เมื่อ “ข้าวไทย” ได้ถูกนำมาวิจัยด้านเภสัชกรรมจนได้สารโมนาโคลิน เค ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดคอเลสเตอรอลสูงเช่นนี้ นอกจากจะเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพแล้ว ยังมีแนวทางที่จะให้ผู้มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงมีแนวทางในการพึ่งตนเอง ลดการบริโภคยา และนำอาหารเพิ่มมูลค่าทางยามากขึ้น
หมายเหตุ ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 มีนาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=192302&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า