เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 52
ลำไยอบแห้งนับเป็นสินค้าเกษตรอีกชนิดหนึ่งที่ตลาดต้องการ แต่ที่ผ่านมาเครื่องอบเนื้อลำไยที่เกษตรกรใช้กันโดยทั่วไป ยังล้าสมัยระบบการใช้ค่อนข้างจะมีขั้นตอนมากมาย ทำให้ล่าช้า จึงทำให้ พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์ วิศวกรการเกษตรระดับชำนาญการ กลุ่มวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว กรมวิชาการเกษตร และคณะ คิดค้นต้นแบบเครื่องอบแห้งเนื้อลำไย โดยใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ลดขั้นตอนการผลิต ประหยัดและได้เนื้อลำไยอบแห้งที่มีคุณภาพด้วย
พุทธธินันทร์ บอกว่า เครื่องอบเนื้อลำไยที่เกษตรกรใช้กันโดยทั่วไปจะอบโดยใช้อุณหภูมิเดียว ตู้อบทำด้วยสังกะสี ถาดวางลำไยเป็นไม้ไผ่สานเป็นตะแกรงวางเป็นชั้นๆ ท่อลมร้อนอยู่ชั้นล่าง ทำให้การกระจายลมร้อนไม่สม่ำเสมอ ชั้นลำไยที่อยู่ชั้นล่างจะแห้งไวกว่าชั้นบน เกษตรกรต้องคอยสลับถาดลำไย นอกจากนี้ยังใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งผู้ที่ใส่ฟืนต้องมีความชำนาญเพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิในห้องอบให้คงที่ เมื่ออบแล้วต้องนำมาตากแดดอีก 2 ชั่วโมง
เพื่อขจัดปัญหาและขั้นตอนของเครื่องอบที่ชาวบ้านใช้อยู่ พุทธธินันทร์ และคณะ จึงศึกษาเครื่องอบแห้งลมร้อน โดยใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนอุณหภูมิที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง วิธีใช้คือนำรถเข็นบรรจุเนื้อลำไยสดที่เตรียมไว้ทยอยเข้าเครื่องอบแห้งต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จนกว่ารถเข็นเนื้อลำไยเคลื่อนออกจากเครื่อง และได้เนื้อลำไยอบแห้งออกมาพร้อมที่จะนำไปบรรจุเพื่อจำหน่ายทันที โดยใช้เวลาในการอบ 7.5 ชั่วโมง
"ผลการศึกษาถึงการใช้อุณหภูมิในช่วงแรกของการอบ พบว่าอุณหภูมิที่ 80 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการอบแห้งในช่วงแรก สามารถลดความชื้นของเนื้อลำไยที่มีเปอร์เซ็นต์ความชื้นเริ่มต้น 80% ใช้เวลา 1.5 ชั่วโมง ความชื้นของเนื้อลำไยจะลดลงเหลือ 50% โดยที่เนื้อลำไยไม่เสียคุณภาพ เราจึงลองลดอุณหภูมิลงอีก เพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อลำไยตามความชื้นที่ลดลง โดยอบต่อที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสอีก 6 ชั่วโมง รวมเวลาการอบแห้งทั้งหมด 7.5 ชั่วโมง ได้ลำไยที่อบแห้งคุณภาพดี เปอร์เซ็นต์ความชื้นสุดท้ายของเนื้อลำไยอบแห้ง 13%" พุทธธินันทร์ กล่าว
ส่วนต้นแบบของเครื่องต้นอบแห้งเนื้อลำไยแบบต่อเนื่องโดยไม่มีการพักระหว่างการอบ ที่ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนอุณหภูมิตั้งไว้ที่สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร มีห้องอบแห้งลำไย 2 ชุด คือชุดห้องอบแห้งอุณหภูมิสูง ขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 2.9 เมตร สูง 1.2 เมตร สำหรับอบในช่วงแรกที่เนื้อลำไยสดมีความชื้นสูง กับชุดห้องอบอุณหภูมิต่ำขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 7.5 เมตร สูง 1.2 เมตร สำหรับอบเนื้อลำไยต่อจากชุดห้องอบอุณหภูมิสูง ในช่วงที่เนื้อลำไยมีความชื้นลดลง
ภายในห้องอบแห้งทั้ง 2 ชุด มีชุดพัดลมชนิดไหลตัดแกน ทำหน้าที่กระจายลมร้อนผ่านพื้นผิวของเนื้อลำไยเพื่อดึงความชื้นออกสู่อากาศภายนอกที่ช่องระบายความชื้น นอกจากนี้มีอุปกรณ์ให้ความร้อน ประกอบด้วย ชุดหัวเตาเซรามิก ซึ่งเมื่อถูกเผาจะให้พลังงานความร้อนสูง และมีชุดหัวล่อแก๊สทำหน้าที่จุดไฟที่ชุดหัวเตาเซรามิก โดยเครื่องอบแห้งต้นแบบนี้สามารถบรรจุรถเข็นที่ลำเลียงเนื้อลำไยสดได้ 5 คัน แต่ละคันบรรจุถาดวัสดุที่จะเข้าอบมีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ได้ 6 ถาด รวมทั้งหมด 30 ถาด คิดเป็นพื้นที่การอบแห้งทั้งหมด 30 ตารางเมตร
ผลจากการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อหาความคุ้มทุน พบว่า เครื่องอบชนิดนี้สามารถอบแห้งผลลำไยสดได้ 1,300 กก.ต่อวัน ผลิตเนื้อลำไยแห้งได้ 130 กก.ต่อวัน จุดคุ้มทุนการผลิตเนื้อลำไยอบแห้ง 7,046 กก.ต่อปี ใช้เวลาคืนทุนอยู่ที่ 2 ปี หากเกษตรกรสนใจจะดัดแปลงเครื่องอบแห้งลำไยเก่าเพื่อประหยัด สอบถามได้ โทร.0-529-0663-4 โทรสาร 0-529-0664
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 3 มีนาคม 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090303/3493/เครื่องอบแห้งเนื้อลำไยต้นแบบใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนอุณหภูมิ.html