เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 52
“มะม่วง” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจของไทย ที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูง ปีที่ผ่านมาสามารถผลิตมะม่วงได้ 2,374,165 ตัน จากพื้นที่ประมาณ 1,906,960 ไร่ ประมาณ 90% ของผลผลิตทั้งหมดใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ส่วนที่เหลือจะเข้าสู่กระบวนการส่งออก
ตลาดรองรับมะม่วง คือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลี สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งรูปแบบสินค้ามีทั้งมะม่วงสด มะม่วงแช่แข็ง และแปร รูปมะม่วงกระป๋อง มะม่วงอบแห้ง ฯลฯ ปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,334 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,428.74 ล้านบาท ด้วยมะม่วงสามารถทำรายได้ เข้าประเทศปีหนึ่งจำนวนไม่น้อย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญ และดูแลการผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐานในความปลอดภัย และคุณภาพเป็นไปตามความต้องการตลาดโลก
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตมะม่วงในฤดูกาลปีนี้ (2552) ว่า มีการออกดอกค่อนข้างกระจายตัวเนื่องจากอากาศหนาวเย็นจัดยาวนาน ตั้งแต่ ปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงปลายเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกมะม่วงบานส่งผลให้ช่อดอกมะม่วงมีเปอร์เซ็นต์เป็นดอกตัวผู้สูง ขณะที่มีดอกกะเทย (สมบูรณ์เพศ) ต่ำ
อีกทั้งสภาพอากาศแห้งทำให้แมลงที่ช่วยผสมเกสรไม่ออกหาอาหารทั้งยังมีราแป้ง ระบาดทำลายช่อมะม่วงและมีเพลี้ยจักจั่นระบาดดูดกินน้ำเลี้ยงบนช่อด้วย ทำให้ติดผลค่อนข้างน้อย หรืออาจไม่ติดผลเลย โดยเฉพาะที่ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมจะมีอัตราการติดผลต่ำมาก ปีนี้คาดการณ์ว่าผลผลิตมะม่วงในฤดูจะทยอยออกสู่ตลาดเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนมีนาคม ช่วงที่ 2 กลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน และช่วงที่ 3 ต้นเดือนเมษายน-พฤษภาคม
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประมาณการว่า จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมทั้งสิ้น 2,422,085 ตัน จากพื้นที่ที่ให้ผลผลิตประมาณ 1,721,372 ไร่ทั่วประเทศ ปัจจุบันได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้รวบรวมผลผลิตและผู้ส่งออก นำ “ระบบการผลิตและส่งมอบตรงเวลา” (Just In Time) มาใช้ในการพัฒนาการผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ มีความปลอดภัยตรงตามความต้องการของตลาดและสามารถส่งมอบสินค้าให้แก่ประเทศ ผู้นำเข้าได้ทันเวลา คาดว่าจะช่วยผลักดันการส่งออกได้เพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 2,000 ตัน/ปี โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีแนวโน้มที่สดใส
นอกจากนี้ ยังจะเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณผลผลิต มะม่วงคุณภาพดีเข้าสู่ตลาด (Marketableyield) มากขึ้นเป็น 50% โดยใช้ เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม (GAP) พร้อมสนับสนุนให้มีคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคา และปริมาณผลผลิตตามเงื่อนไขสัญญา ทั้งยังส่งเสริมให้ขยายช่วงเวลาการผลิตมะม่วงนอกฤดูให้มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งออกได้สม่ำเสมอตลอดปี พร้อมส่งเสริมนำระบบโลจิสติกส์ (Logistics) มาบริหารและจัดการผลผลิตสู่ปลายทางเพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภค
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมฯได้กำหนดจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงระดับประเทศ” ขึ้น ในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีผู้เกี่ยวข้องจาก หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้แทนบริษัทผู้ส่งออกและเกษตรกรผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงกว่า 32 กลุ่ม จาก 19 จังหวัด เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 200 ราย เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดการการผลิตมะม่วงเชิงคุณภาพและทิศทางการดำเนินงานของสมาพันธ์มะม่วงแห่งประเทศไทย
ในงานนี้มีการบรรยายพิเศษหัวข้อสำคัญที่น่าสนใจ อาทิ สถานการณ์ภาพรวมการผลิตและการค้ามะม่วง, ศักยภาพการผลิตและความต้องการของตลาดมะม่วงปี 2552 อีกทั้งยังมีการอภิปราย มี 4 ประเด็น คือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเครือข่ายกลุ่มการผลิตการเกษตร การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ส่งออกมะม่วงของประเทศ การพัฒนาระบบการรวบรวม และกระจายมะม่วง และทิศทางการพัฒนา สมาพันธ์มะม่วงแห่งประเทศไทย
การรวมตัวของเครือข่ายผู้ผลิตมะม่วงครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการผลิตระหว่างกันและได้ทราบแนวทางการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นจุดขายที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับสินค้ามะม่วงไทยในตลาดโลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 4 มีนาคม 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=126073