เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 52
ต้องยอมรับว่า ในยุคที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในขาลงนั้น ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกสินค้าไทยอย่างใหญ่หลวง ยกเว้นการส่งออกผลไม้เท่านั้นที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีปริมาณที่ไม่มากนัก แต่อย่างน้อยพอที่จะให้เห็นว่า ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ ภาคเกษตรยังพอที่จะเป็นที่พึ่งได้
และในจำนวนไม้ผลที่มีการส่งออกมากขึ้นนั้น ดูเหมือนว่า มะม่วง เป็นผลไม้ที่กำลังมาแรง แม้ปัจจุบันการส่งออกมะม่วงจะอยู่ในอันดับที่ 4 รองจากทุเรียน มังคุด ลำไย ก็ตาม แต่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น เพราะทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังดำเนินการขยายตลาดให้มากขึ้นนั่นเอง
หากดูสถิติตลาดมะม่วงทั่วโลก มีปริมาณกว่า 4 หมื่นตัน แต่ประเทศไทยส่งออกเพียง 650 ตัน เนื่องจากมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งถือเป็นราชินีของมะม่วง มีข้อจำกัดตรงที่ผิวเปลือกบาง ต้องถนอมในการขนส่ง แต่ราคาสูง โดยตลาดหลักนำเข้ามะม่วงจากประเทศไทยมี ประเทศจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และกำลังขยายตลาดสู่ตะวันออกกลางและรัสเซีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการนำเข้ามะม่วงมากที่สุดจากประเทศเม็กซิโก เป็นมะม่วงสายพันธุ์เคนท์ รองลงมาจากประเทศฟิลิปปินส์สายพันธุ์คาราบาว และไทยมาอันดับ 3 เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ และล่าสุด บริษัท ซี.พี.สตาร์เลนส์ จำกัด เริ่มส่งมะม่วงสายพันธุ์มหาชนกมา 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะที่กรุงโตเกียว โอซากา และฟูกูโอกะ เป็นต้น ล่าสุดกำลังทำตลาดส่งออกมะม่วงสายพันธุ์ใหม่คือ พันธุ์อาร์ทูอีทูอีก
นางเบญจวรรณ รัตนประยูร ที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ (สังกัดสำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์) ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการตลาดผลไม้ กล่าวว่า ตอนนี้เป็นที่น่าดีใจ แม้ว่าผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ฉุดภาคการส่งออกของไทยติดลบ มีแต่ผลไม้เท่านั้นที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่แล้ว ผลไม้ที่ส่งออกมากที่สุดเป็น ทุเรียน มังคุด ลำไย และมะม่วง โดยมีตลาดใหญ่ที่ประเทศจีน โดยเฉพาะมะม่วง ปีที่ผ่านส่งออกกว่า 600 ตัน นอกจากนี้มี ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และในอาเซียนอีกส่วนหนึ่ง
"การส่งออกผลไม้ไทยรวมถึงมะม่วงด้วย มีปัญหาตรงที่ว่า หากใช้เวลาในการส่งออกเกิน 20 วัน ผลไม้จะเสียหาย ฉะนั้นสิ่งที่ต้องปรับปรุงนอกจากคุณภาพแล้ว ต้องปรับปรุงระบบการบริการและขนส่งด้วย ซึ่งจะช่วยให้ภาคส่งออกของดีขึ้นได้ ปีนี้เราตั้งเป้าการส่งผลไม้ให้ขยายอีก ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อขยายตลาดต่อไป โดยเฉพาะตลาดรัสเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่จะส่งต่อไปยังคาซัคสถานได้" นางเบญจวรรณกล่าว
ด้าน นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ส่งมะม่วงออกไปต่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกมะม่วงไปยังประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่น 1,500 ตัน จากทั้งหมด 1.2 หมื่นตัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่ง 12.5% โดยมีประเทศเม็กซิโก ส่งออก 43% และฟิลิปปินส์ 26% ที่เหลือเป็นเทศอื่นๆ และมีแนวโน้มว่า ต่อไปการส่งออกมะม่วงจากประเทศจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชนมีการส่งเสริมกิจกรรมในรูปแบบของการโรดโชว์อย่างต่อเนื่อง มะม่วงจากประเทศไทยที่ส่งญี่ปุ่นมากที่สุดคือ น้ำดอกไม้ และมหาชนก
"ปี 2551 มะม่วงของซีพีที่ส่งออกโดย ซี.พี.สตาร์เลนส์ จำนวน 150 ตัน ในปี 2552 มีเป้าขยายตัวเป็น 350 ตัน คิดมูลค่าการส่งออก 100 ล้านบาท และจะขยายส่งออกไปญี่ปุ่น 1,000 ตัน ในปี 2553 ล่าสุดเราทดลองส่งมะม่วงอีก 2 สายพันธุ์ คือ มหาชนก และอาร์ทูอีทู ไปยังตลาดญี่ปุ่น ปรากฏว่าตลาดรองรับในระดับดีขึ้น ตัวนี้ที่เราจะขยายตลาดต่อไป เพื่อแย่งตลาดส่งออกมะม่วงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังจะขยายไปจีนและฮ่องกงด้วย ซึ่งมะม่วงทั้ง 2 สายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติพิเศษ อย่างมะม่วงมหาชนก จากเดิมมีผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ เราสามารถพัฒนาให้เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ เช่นเดียวกับพันธุ์อาร์ทูอีทูมีผลผลิตได้ 2,000 กิโลกรัมต่อไร่เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรในเครือข่ายอีก 23 กลุ่ม ที่ทำให้เราสามารถขยายปริมาณการส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงได้ถึง 1,200 ตันในปี 2552 นี้" นายมนตรีกล่าวอย่างมั่นใจ
ก็นับเป็นอีกความหวังหนึ่งของภาคส่งออกของไทย ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ แม้จะมีมูลค่าไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็จะได้นำเงินเข้าประเทศไทยได้บ้าง
เทคนิคให้ "มหาชนก-อาร์ทูอีทู" ดก
นายปรีชา ไขศรีแก้ว รองผู้จัดการฝ่ายสวนเกษตรจัดสรรสวนเกษตรชลบุรี จ.ชลบุรี กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีในการผลิตมะม่วงสายพันธุ์มหาชนกและสายพันธุ์อาร์ทูอีทูให้ผลผลิตดกว่า ในสวนเกษตรซีพีชลบุรีมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,500 ไร่ ปลูกมะม่วงเพื่อส่งออก 1,000 ไร่ ปลูกส้มโอส่งออก 300 ไร่ อีก 200 ไร่เป็นอาคารสำนักงาน และแหล่งน้ำ ในส่วนของมะม่วงเดิมมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่ส่งออกในช่วงแรกเป็นน้ำดอกไม้ นอกนั้นมีมหาชนก โชคอนันต์ เขียวเสวย เป็นต้น
ในส่วนของมหาชนกเดิมที่ได้ผลผลิตเพียงไร่ละ 800 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ปัจจุบันสามารถทำให้มีผลผลิตได้ 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใช้หลักง่ายๆ คือ จัดการระบบในแปลงให้สะอาด กำจัดวัชพืชด้วยสารเคมีในช่วงที่ต้นมะม่วงยังไม่ออกผลผลิต เพื่อป้องกันพืชชนิดอื่นแย่งอาหาร การจำกัดแมลงศัตรูพืชใช้วิธีป้องกันมากกว่าแก้ บำรุงอาหารช่วงก่อนออกผลผลิต
ทั้งนี้ มะม่วงสายพันธุ์อาร์ทูอีทู นำพันธุ์มาจากออสเตรียมาแทนเขียวเสวย โดยการใช้วิธีทาบกิ่งต่อเขียวเสวยเดิม บางต้นใช้เขียวเสวยและอาร์ทูอีทูในต้นเดียวกันด้วย โดยผลผลิตออกสมบูรณ์ทั้ง 2 สายพันธุ์ ปัจจุบันในส่วนของมะม่วงสายอาร์ทูอินทูมีผลผลิต 2,000 กิโลกรัมต่อไร่เช่นกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 9 มีนาคม 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090309/4389/ทิศทางตลาดมะม่วงในต่างแดนชูมหาชนกสู้เม็กซิโกฟิลิปปินส์.html