เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 52
แม้ “เทคโนโลยี” จะพัฒนาให้ก้าวล้ำไปไกล มีการสร้างเครื่องมือที่ทันสมัย สะดวกต่อการทำงาน ให้ผลรวดเร็วเพียงใดก็ตาม แต่เราก็ยังคงเอาสิ่งที่มีอยู่ใน “ธรรมชาติ” อาทิ ไส้เดือน กิ้งกือ รวมทั้ง เชื้อรา และ สาหร่าย หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า “ไลเคน” เป็นเครื่องชี้วัด “ความสมบูรณ์”
ในทางตรงกันข้ามยังสามารถใช้บ่งบอกถึง “สารพิษ” ในอากาศว่ามีปริมาณมากน้อย ก่อให้เกิดความเสี่ยง และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย
โดยล่าสุด ดร.วนารักษ์ ไซพันธ์แก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบ ไลเคนชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประเทศไทย และได้ศึกษาความหลากหลาย ชนิดที่เป็นตัวบ่งชี้การตรวจสอบผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ในบริเวณที่ลุ่ม ในเขต 7 จังหวัดทางภาคเหนือตอนบน ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนสนับสนุน
ดร.วนารักษ์ บอกว่า ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตเกิดจากการอยู่ร่วมกันระหว่างรากับสาหร่ายแบบพึ่งพาอาศัย ส่วนใหญ่มีสีเขียวและส่วนน้อยเป็นแบคทีเรียสีเขียวแกมน้ำเงิน จะพบในชนิดที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง ไม่ทนทานต่อมลพิษทางอากาศ การหายไปหรือปรากฏขึ้นการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพเช่น เกิดการฟอกขาวของตัวมันเอง
อย่างต้นปี'50 ที่มีวิกฤติหมอกควันในพื้นที่เชียงใหม่ ลำปาง มันได้ถูกเอามาเป็นเครื่องชี้วัดสัญญาณเตือนการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอากาศ ซึ่งประเทศในแถบยุโรป อเมริกา ใช้เป็นตัวบ่งชี้มลพิษทางอากาศและชีวภาพกันมาแล้วอย่างแพร่หลาย
ดังนั้น เพื่อศึกษาความหลากหลาย ทีมวิจัยจึงสำรวจพื้นที่ทางภาคเหนือตอนบนได้แก่ จังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน และ พะเยา รวม 32 แห่ง แบ่งเป็นเขตตัวเมือง 7 แห่ง และนอกเขตตัวเมือง 25 แห่ง ทำการ คัดเลือกต้นมะม่วง ที่มีความเป็นกรด ด่าง ของเปลือกไม้ไม่สูงหรือต่ำในพื้นที่จำนวน 10 ต้น เพื่อ สำรวจชนิดความถี่จำนวน “ไลเคน”
ได้ผลว่า ในเขตตัวเมืองที่ประชากรหนาแน่น ใกล้เขตอุตสาหกรรม จะพบความหลากชนิดจำนวนลดลง และจะพบไลเคนขนาดใหญ่ (macro lichen) ในกลุ่ม “ฟอลิโอส” ที่มีลักษณะเป็นแผ่นใบ คล้ายใบไม้ จำนวน 24 ชนิด ใน 9 สกุล ในบริเวณที่อยู่รอบนอกเขตตัวเมืองในจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ภูมิศาสตร์ปริมาณน้ำฝนต่อปีโดยเฉลี่ย จะมีผลต่อการกระจายตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝน ในครั้งนี้ ยังพบว่า มีไลเคนชนิดใหม่ของโลก 4 ชนิด เป็นกลุ่ม“ครัสโตส” พบมากในพื้นที่ราบลุ่มที่ถูกรบกวน จำแนกชนิดได้ยากอาจเป็นชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน ซึ่งได้แก่ Bactrospora perspiralis Saparrius, Saipunkaew & Wolseley ณ ปัจจุบัน พบที่จังหวัดลำปางเท่านั้น
Bactrospora subdryina Saparrius, Saipunkaew & Wolseley พบที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น Enterographa mesomela Saparrius, Saipunkaew & Wolseley พบที่จังหวัดเชียงราย และ Lecanographa atropunctata Saparrius, Saipunkaew & Wolseley พบที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน
จากการศึกษาพบว่ากลุ่ม “ฟอลิโอส” สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ ความแตกต่างของภูมิศาสตร์ รวมทั้งผลกระทบจากมนุษย์ที่มีต่อกลุ่มไลเคน โดยบางชนิดที่พบในเขตตัวเมือง สามารถใช้บ่งชี้ว่าพื้นที่นั้นๆ มีฝุ่นละอองสะสมบนวัตถุ อย่างไรก็ตาม การใช้ไลเคนเป็นตัวบ่งชี้ อาจไม่สามารถระบุชนิดและปริมาณสารมลพิษได้ชัดเจน แต่สามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า ถึงคุณภาพอากาศที่เราหายใจเข้าไปอยู่ทุกวัน
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้จัดทำคู่มือนักสำรวจฯ เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้น รวมถึงวิธีการและข้อเสนอแนะการใช้ไลเคนตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวด-ล้อมสำหรับนักเรียน ครู หรือบุคคลทั่วไป สนใจสอบถาม โทร. 053-944-3346, 053-943-348 หรือ E-mail : [email protected]
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 9 มีนาคม 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=126829