'ใช้สารอินทรีย์' กว่า 5,000 กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 52
'ใช้สารอินทรีย์' กว่า 5,000 กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ
หลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินจัดตั้ง กลุ่มเกษตรกรใช้
สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร มาตั้งแต่ปี 2550 ปีละ 17,000 กลุ่ม เกษตรกรเป้าหมาย 850,000 ราย ปรากฏว่าโครงการเป็นที่สนใจ มีเกษตรกรสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ส่งผลให้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี เกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันกลับมาหาหนทางที่สามารถลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดก็คือการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เองจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัว
นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า หลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการมากว่า 2 ปี จากการติดตามผลปรากฏว่ากลุ่มเกษตรกรกว่า 50% สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างต่อเนื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรมมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองและจำหน่ายในชุมชน สร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
โดยบางกลุ่มสามารถสร้างโรงปุ๋ยขนาดเล็กได้เอง แต่บางกลุ่มที่มีกำลังเงินทุนน้อยก็ยังไม่สามารถสร้างได้ ดังนั้น กรมฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาช่วยสนับสนุนงบในการจัดสร้างโรงปุ๋ยให้กับกลุ่มเกษตรกร พร้อมกันนี้ในปีงบประมาณ 2553 กรมฯ ได้ของบในการจัดตั้งโรงปุ๋ยให้กับกลุ่มเกษตรกรได้ 50 โรง ซึ่งจะทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ ได้ประสานกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตน้ำตาล เพื่อขอซื้อกากน้ำตาลในราคาถูก เนื่องจากที่ผ่านมาราคากากน้ำตาลที่เกษตรกรซื้อจะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 8-10 บาท แต่ถ้ากลุ่มเกษตรกรซื้อจำนวนมากมาเก็บสต๊อกไว้ตามศูนย์เรียนรู้หรือโรงปุ๋ยอินทรีย์ทั่วประเทศจะสามารถลดราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 5 บาท แล้วขายต่อให้กับเกษตรกรในราคาทุนก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้มาก
หลังจากส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์แล้ว กรมฯ ก็ต้องเร่งรับรองคุณภาพปุ๋ยของกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้ารับรองมาตรฐานสินค้า Q ให้ได้อย่างน้อย 250 แห่ง พร้อมกันนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงานของกลุ่มให้สามารถอยู่รอดด้วยการพึ่งพาตนเอง โรงปุ๋ยที่อยู่ในเกรดซีก็ต้องพัฒนายกระดับขึ้นมาสู่ระดับบีและเอต่อไปให้ได้ และสร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมาทดแทนไปเรื่อย ๆ
สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่มีความเข้มแข็ง มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากความไม่พร้อมของเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่อาจรวมกลุ่มกันดำเนินการได้ รวมถึงบางแห่งไม่มีวัตถุดิบที่เหมาะสมในการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งกรมฯ จะเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ทุกกลุ่มตามความเหมาะสม โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งผลประโยชน์จะตกอยู่ที่เกษตรกรทั้งผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และผู้ใช้ รวมไปถึงผู้บริโภค
นอกจากการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีแล้ว กรมพัฒนาที่ดินยังมีโครงการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนและโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ล้วนแต่เป็นโครงการที่จะเข้าไปช่วยให้เกษตรกรมีระบบการผลิตที่เน้นการพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นวิถีการผลิตพืชผลทางการเกษตรที่มีความยั่งยืนและมั่นคง หากเกษตรกรสนใจระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์สามารถขอความรู้ได้ที่กรมพัฒนาที่ดินหรือหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านกว่า 70,000 รายทั่วประเทศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 มีนาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=193055&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า