เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 52
หลายคนที่ เดินทางไปทำงานต่างประเทศ กว่าจะเก็บเงินได้ซักก้อน ต้องทนอาบเหงื่อต่างน้ำกันอยู่นานโข ฉะนั้น การใช้สอยลงทุนประกอบอาชีพก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เพื่อให้เม็ดเงินได้งอกผลิดอกออกมาอย่างคุ้มค่าเหนื่อย
นางสาวสุวารี เอี่ยมรำ ชาวบ้านลำโพง ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ เธอเล่าว่า หลังจากทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นนานถึง 6 ปี เมื่อกลับมาอยู่บ้านยังไม่รู้จะทำอาชีพอะไรถึงจะไม่เสี่ยงกับเงินที่เก็บ สะสมมา สังเกตเห็นว่าเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันเขาเลี้ยงสุกรขุนมีรายได้ที่เข้ามาแน่ นอน แล้วสนใจจึงเริ่มศึกษาความเป็นไป กระทั่งรู้ว่าอาชีพนี้มีรายได้ที่แน่นอน มั่นคง แล้วเชื่อว่า “เราต้องทำได้” จึงตัดสินใจร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
และเพื่อให้ขบวนการเลี้ยงซึ่งนับว่าจุดแรกหรือเป็น “ต้นน้ำ” แห่งการผลิตได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย อีกทั้งไม่เปลืองแรงงานจึงเลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัย อย่างการสร้างโรงเรือนจะใช้ “ระบบปิด” ปรับอากาศด้วย การระเหยของน้ำ หรือ Evaporative cooling system (EVAP) ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้เหมาะกับช่วงอายุของสุกร ซึ่งที่นี่จะรับหมูขุนได้ทั้งหมดจำนวน 550 ตัว
ส่วนการให้อาหารจะเป็นแบบ Auto-feed คือ ให้ผ่านระบบอุปกรณ์อัตโนมัติ ที่นอกจากช่วยให้สุกรได้รับอาหารน้ำเพียงพอ ยัง ทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ สุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง แต่ก็ต้องมีระบบป้องกันที่ดี ซึ่งถ้าบุคคลภายนอกจะเข้าบริเวณฟาร์ม ต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อน เพื่อให้การเลี้ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดจากโรค
โดยเริ่มแรก ซีพีเอฟจะส่งลูกสุกรหย่านมอายุ 18 วัน อาหารสัตว์ รวมทั้งปัจจัยการผลิตต่างๆมาให้ เรามีหน้าที่ดูแลทั้งความสะอาดคอก ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ อาหาร น้ำ ต้องมีสม่ำเสมออย่าให้ขาด อีกทั้งอุณหภูมิต้องสังเกตว่าไม่ควรร้อนหรือเย็นเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของสุกร กระทั่งสุกรอายุ 24 สัปดาห์ หรือที่น้ำหนัก 95-110 กิโลกรัม บริษัทจะรับซื้อทั้งหมด
ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการหากเจอปัญหา ก็จะปรึกษากับเจ้าหน้าที่ซึ่งจะมาดูแลให้คำแนะนำบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สายป่านแห่งอาชีพนี้ไปได้อีกยาวนาน สุวารีจึงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบๆ ด้วยการปรับพื้นที่สร้างบ่อบำบัดมูลสุกรและน้ำเสีย “ระบบไบโอแก๊ส” ซึ่งเป็นการนำมูลสุกรเข้าสู่ระบบบ่อหมักแก๊สชีวภาพ แบบ Plug Flow ขนาด 250 คิว
สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในระบบโรงเรือนเลี้ยงสุกร โดยเข้าร่วมโครงการของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะได้รับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างและติดตั้งระบบจากรัฐ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แต่ละเดือนจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าเพียง 4,000 บาท ลดลงจากที่แต่ก่อนต้องเสียเดือนละ 12,000 บาท
สุวารี บอกว่า นอกจากประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ละคอกยังมีรายได้เสริมจากการขายมูล (ขี้) หมูตากแห้ง ประมาณ 28,000 บาท ซึ่งนับว่าไม่น้อยทีเดียวในภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
สำหรับเกษตรกรรายใดสนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-4825-9815.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 มีนาคม 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=127194