เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 52
งาดำ เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในอนาคตตลาดโลกมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะสารอาหารจำพวก กรดพาราอะมิโนแอซิด โอเมก้า–3 สารเซซามอน ส่วนสารเซซามีน
อีกทั้งยังมีโปรตีนมากกว่าในนมวัวถึง 2 เท่า มีแคลเซียมมากกว่าพืชผัก 40 เท่า อุดมไปด้วย วิตามินอี วิตามินบี 2, 3, 5, 6, 9 ธาตุเหล็ก สังกะสี และ ฟอสฟอรัส ปัจจุบันจึงมีการใช้ประโยชน์จากงาดำ โดยนำมาสกัดเป็นน้ำมันงา เป็นอาหารเพื่อโภชนาการที่ดี ผสมกับเส้นหมี่สำเร็จรูป ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และ กากงาดำ ที่เหลือยังสามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย
บ้านเรามีศักยภาพในการผลิต เพราะปลูกง่าย ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง ที่สำคัญลงทุนน้อย ค่าตอบแทนสูง แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการฝักแตกง่ายทำให้เมล็ดร่วง อีกทั้งยังมีโรคเน่าดำ โรคเหี่ยว โรคยอดฝอย รวมทั้งยังมีแมลงศัตรู เช่น หนอนห่อใบงา หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก มวนต่างๆ และ เพลี้ย จึงทำให้ผลผลิตต่ำ
คณะห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ และ รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์งาดำ
รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ เล่าถึงขั้นตอนปฏิบัติการว่า เริ่มทดลองปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยวิธีการผสมสายพันธุ์งาดำมาจากคู่ผสม KUsr6040®China2 โดยคัดเลือกแบบจดประวัติ (pedigree selection) ได้สายพันธุ์ TQ8069 (KUsr 6040®China2-3-2-2-1) กระทั่งได้ลักษณะประจำของสายพันธุ์ใหม่ โดยมีอายุการ ออกดอกประมาณ 36 วัน อายุ เก็บเกี่ยวประมาณ 92–100 วัน ระดับความสูงของ ลำต้นอยู่ที่ 93–100 ซม.
ทรงต้น แตกกิ่ง 2–4 กิ่ง ฝักมีจำนวน 6 ฝักต่อต้น มุมใบและเมล็ดคงเหลืออยู่ในฝัก 97 เปอร์เซ็นต์ รูปร่างฝัก 2 คาร์เพล (bicarpellate) การเรียงตัวของฝักจะเป็นแบบตรงกันข้าม และเวียนสลับรอบลำต้น จำนวนฝักต่อมุมใบ 1 ฝักมุมใบ น้ำหนักชั่งจากจำนวน 1,000 เมล็ด ประมาณ 3.96 กรัม ให้ผลผลิต 360 กก.ต่อไร่ และเมล็ดสีดำเปลือกหุ้มเมล็ดชั้นเดียว
ลักษณะที่เด่นชัดจะไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน มีที่ฝักต้านทานการแตก (shatter resistance) เมื่อฝักสุกแก่ปลายฝักเปิดอ้า เมล็ดร่วงจากฝักเล็กน้อย โดยตรวจสอบด้วยการเขย่าฝักและนำฝักมาคว่ำปลายฝักลง พบว่า มีเมล็ดคงเหลืออยู่ในฝักประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ ฝักปิดสนิท (closed capsule) ประมาณ 2-50 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำเครื่องนวดข้าว ถั่วเหลือง หรือ ถั่วเขียว มาใช้ในการกะเทาะเมล็ดได้
และเปลือกหุ้มเมล็ดก็ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถลดการสูญเสียผลผลิตจากเมล็ดร่วงได้ แตกต่างจากพันธุ์งาดำฝักแตกที่ปลูกกันอยู่ทั่วไป อีกทั้งเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกต่อได้
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ พระราชทานนาม พันธุ์งาดำชนิดใหม่ว่า CM–07 ซึ่งเป็นอักษรย่อ พระนามภาษาอังกฤษ และปีที่เริ่มทำการวิจัย
หากเกษตรกรหรือนักวิชาการสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ 10900 หรือกริ๊งกร๊าง 0-2579-3130, 0-2579-4371 Fax 0-2579-8580 ในเวลาราชการ หรือคลิกดูที่ http://agron.agr.ku.ac.th
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 16 มีนาคม 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=128043