ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน -ฟอสฟอรัสมากเกิน 'ต้นส้ม' จะอ่อนแอ
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 52
ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน -ฟอสฟอรัสมากเกิน 'ต้นส้ม' จะอ่อนแอ
"
ส้ม" เป็นไม้ผลที่มีการเพาะปลูกอยู่ทั่วโลกนับร้อยชนิด และได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เนื่องจากผลมีรสเปรี้ยวหรือหวาน และมีคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบด้วย แคลเซียม โพแทสเซียม วิตามินเอ และวิตามินซี เปลือกส้มมีน้ำมันหอมระเหย ใช้ปรุงยาหอม แก้ลมจุกเสียด
ส้มเขียวหวานเป็นส้มพันธุ์หนึ่งที่มีการปลูกในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือซึ่งมีอากาศหนาวเย็นจะช่วยให้ผิวของผลส้มมีสีเหลืองส้มมากขึ้น โดยมีการปลูกมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ ลำปาง สุโขทัย พะเยา นอกจากจะเป็นผลไม้ที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานแล้ว ยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศปีละหลายสิบล้านบาท โดยมีตลาดส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา
ส้มเขียวหวานเป็นพืชที่ชอบดินที่มีความร่วนซุย ถ้าปลูกในดินที่มีการระบายอากาศไม่ดีมักจะมีปัญหาจากโรครากเน่า โคนเน่า ทำให้มีการใช้สารเคมีจำนวนมากในการเพาะปลูก เนื่องจากมีแมลงศัตรูและโรคพืชหลายชนิด ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่พืชผลกลับดูดปุ๋ยไปใช้ได้เป็นส่วนน้อย จึงทำให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนต่ำ นอกจากนี้ยังมีผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีธาตุอาหารตกค้างในดินและปนเปื้อนออกไปในแหล่งน้ำ
ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.สมจิตร อยู่เป็นสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ ศ.ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จึงได้ศึกษาวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพของการดูดธาตุอาหารในต้นกล้าส้มเขียวหวาน มะนาว ส้มโอ และส้มเกลี้ยง ด้วยเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่า โดยได้รับทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่า เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ร่วมกับรากพืชแบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุให้แก่พืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอสฟอรัส ซึ่งดินส่วนใหญ่มักมีปัญหาขาดแคลนธาตุนี้ นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน เนื่องจากเส้นใยของเชื้อราจะช่วยทำให้เกิดการจับตัวกันของอนุภาคดินทำให้เกิดเม็ดดิน ช่วยทำให้ดินร่วนซุยเหมาะแก่การระบายน้ำและอากาศ รวมทั้งช่วยทำให้พืชต้านทานต่อจุลินทรีย์ในดินที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้มากขึ้นด้วย เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่ามีอยู่ในธรรมชาติ แต่ในพื้นที่เพาะปลูกอาจมีปริมาณน้อยและไม่ใช่ชนิดที่มีประสิทธิภาพดีต่อการเจริญเติบโตของต้นส้ม ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบหาเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่า เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาไปสู่การผลิตหัวเชื้อและส่งเสริมให้มีการนำไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยชีวภาพมากยิ่งขึ้น
จากการศึกษาพื้นที่เพาะปลูกส้มในภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบด้วย สวนส้มเขียวหวานในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พบว่าเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่าจะช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของต้นมะนาว ส้มโอ และส้มเขียวหวานพันธุ์คลีโอพัตรา ฟรีมองต์ โอเชียน และสายน้ำผึ้ง ทั้งนี้ เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่ามีผลต่อการเจริญเติบโตของกิ่งตอนส้มเขียวหวานสายพันธุ์ ต่าง ๆ และพืชตระกูลส้มบางชนิด เช่น มะนาว และ ส้มโอ ที่มีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในระดับที่แตกต่างกัน โดยระดับฟอสฟอรัสในดินที่บริเวณสวนส้มมีผลต่อเปอร์เซ็นต์การเข้าสู่รากของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่าในต้นส้ม ทำให้เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่าในรากและปริมาณสปอร์ในดินลดลง
ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปริมาณมาก จะทำให้ศักยภาพของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่าในการส่งเสริมการเจริญของต้นส้มลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่าช่วยให้ต้นกล้ามะนาวและส้มโอดูดธาตุอาหารจากดินได้ดี และโตเร็วกว่าต้นส้มชนิดอื่น รวมทั้งส้มเขียวหวานพันธุ์คลีโอพัตราและโทรเยอร์ที่นิยมใช้เป็นต้นตอของส้มสายน้ำผึ้ง ต้นกล้าของมะนาวและส้มโอมีการตอบสนองต่อเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่าได้ดีมากเมื่อเปรียบเทียบกับต้นกล้าของส้มชนิดอื่น จึงน่าจะนำมาทดสอบเพื่อใช้เป็นต้นตอของส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้ง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูก การใช้ปุ๋ยและสารเคมี
ผศ.ดร.สมจิตร อยู่เป็นสุข เป็นผู้ทำการวิจัยทางไมคอร์ไรซ่า ในกลุ่มวิจัยทรัพยากรพันธุกรรมและธาตุอาหารพืชที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สนับสนุนโดย สกว. ซึ่งนอกจากส้มแล้ว ไม้ยืนต้นชนิดอื่น เช่น กาแฟ และยางพารา ยังได้ประโยชน์ จากการติดเชื้อราไมคอร์ไรซ่าที่รากด้วย กล้าไม้ที่มีเชื้อราไมคอร์ไรซ่าจะแข็งแรงและโตเร็ว มีอัตราการรอดสูง และสามารถเจริญเติบโตได้ดีเมื่อนำออกลงปลูกในแปลง
ผู้สนใจในการใช้เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไม คอร์ไรซ่าในพืช ติดต่อสอบถามได้ที่ ผศ.ดร.สมจิตร อยู่เป็นสุข ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 โทร. 0-5394-1946-8 ต่อ 143 หรือ e-mail :
[email protected].
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มีนาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=193498&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า