เปิดระบบ 'บริการจัดการศัตรูพืช' ช่องทางลดความเสี่ยงของเกษตรกร
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 52
เปิดระบบ 'บริการจัดการศัตรูพืช' ช่องทางลดความเสี่ยงของเกษตรกร
ปี 2552 นี้ “กรมส่งเสริมการเกษตร” ทำ โครงการบริหารจัดการศัตรูพืชและการเขตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร โดยสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นให้มีความรู้ ความเข้าใจการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานได้ด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจกรรมและสนับสนุนงบประมาณ เพื่อช่วยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมฯ ได้สร้างระบบการเฝ้าระวังและเตือนภัยศัตรูพืช ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี พระนคร ศรีอยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี และนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญและเป็นพื้นที่การระบาดของแมลงศัตรูพืชเป็นส่วนใหญ่ โดยมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชให้แก่เกษตรกร พร้อมจัดทำแปลงสำรวจและติดตามฯ อำเภอละ 1 แปลง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขยายผลการสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชไปสู่เกษตรกรข้างเคียง
สำหรับการเตือนภัย ข้อมูลในแต่ละสัปดาห์จะผ่านการวิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกันของเกษตรกร หากมีแนวโน้มการระบาดจะเตือนการระบาดศัตรูพืชในพื้นที่เป็นอันดับแรกผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน การปิดประกาศที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ฯลฯ จากนั้นข้อมูลที่ได้ในแต่ละสัปดาห์จะส่งให้กับสำนักงานเกษตรอำเภอทราบทุกสัปดาห์ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนเตือนการระบาดและควบคุมศัตรูพืชได้อย่างทันเหตุการณ์ ส่วนสำนักงานเกษตรอำเภอ จะส่งข้อมูลเข้า Internet โปรแกรมการรายงานแปลงสำรวจและติดตามฯ ให้จังหวัด เขต กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากจะมีการติดตามเฝ้าระวังและการเตือนภัยแล้ว ยังได้จัดทำศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ใน 5 จังหวัด รวม 246 ศูนย์ เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ สามารถเป็นผู้จัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง โดยสอนให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใช้วิธีกลเขตกรรม ชีววิธี การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการผลิตชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง อาทิ เชื้อราบิวเวอเรีย ไตรโคเดอร์ม่า เป็นต้น
จากการดำเนินโครงการฯนำร่อง ผลปรากฏว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นวิธีการที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจร่วมกัน ตั้งแต่การสำรวจ ติดตามสถานการณ์ การตัดสินใจเลือกวิธีการควบคุมศัตรูพืชที่เหมาะสม และการผลิตชีวภัณฑ์ใช้ควบคุมศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง ทำให้เกษตรกรและชุมชนกว่า 60% สามารถจัดการศัตรูพืชด้วยตนเอง อีกทั้งยังนำข้อมูลมาวางแผนจัดการศัตรูพืชได้อย่าง
ถูกต้องมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ สามารถรักษาพืชผลการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการระบาดศัตรูพืช ขณะเดียวกันยังช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมี โดยใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนทำให้ลดต้นทุนการผลิตพืชให้แก่เกษตรกร และรักษาสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นพิษได้ สำหรับปี 2552 กรมฯ ขยายพื้นที่ดำเนินการเป็น 25 จังหวัด สำหรับแผนปี 2553 ขยายผลเป็น 50 จังหวัด และปี 2554 ขยายผลให้ครบ 76 จังหวัด ครอบคลุม 881 อำเภอ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาศัตรูพืชระบาดขึ้น การดำเนินงานตามวิธีดังกล่าวจะเข้ามาช่วยลดปัญหาการระบาดศัตรูพืชได้ทันที โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเมื่อได้รับแจ้งการระบาดจากเกษตรกร จะเร่งเข้าไปตรวจสอบ พร้อมแนะนำความรู้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้แก่เกษตรกร
หากเกิดปัญหาการระบาดรุนแรงเป็นพื้นที่กว้างขวาง ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ ให้แจ้งศูนย์บริหารศัตรูพืช (หน่วยเคลื่อนที่เร็ว) ซึ่งมีอยู่ 9 ศูนย์ ครอบคลุม 76 จังหวัด เข้าไปประเมินสถานการณ์ พร้อมให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหา และวางแผนควบคุมศัตรูพืชร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยใช้งบประมาณภัยพิบัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือขอรับการสนับสนุนจากศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (แล็บชุมชน) ที่มีอยู่ 246 ศูนย์ ใน 5 จังหวัดที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งสามารถผลิตชีวภัณฑ์ได้ 50,000-70,000 กิโลกรัม/วัน กรณีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด สามารถใช้ควบคุมได้ 50,000-70,000 ไร่.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 มีนาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=193583&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า