ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในระบบสหกรณ์ เพื่อความมั่นคงของเกษตรกร
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 52
ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในระบบสหกรณ์ เพื่อความมั่นคงของเกษตรกร
ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รวมตัวจัดตั้งเป็นสหกรณ์โคนมจำนวน 102 สหกรณ์ โดยมีสมาชิกจำนวน 17,486 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ โดยเหตุผลหลักของการจัดตั้งสหกรณ์ โคนม เพื่อต้องการให้มีศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบไว้เป็นแหล่งรวบรวมน้ำนมดิบของสมาชิกไปจัดจำหน่าย และที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและพัฒนาการเลี้ยงโคนม ให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น
ซึ่งในปี พ.ศ. 2545 ที่ผ่านมาได้มีการจัดโครงการพัฒนาธุรกิจโคนมในรูปแบบให้เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมกู้ยืมไปปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต การตลาด จำนวน 600 ล้านบาท โดยเงินทุนดังกล่าวได้สมทบเข้า “กองทุนพัฒนาสหกรณ์” เพื่อหมุนเวียนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายอื่น ๆ หมุนเวียนกู้ยืมไปปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต การตลาด ตามนโยบายอาหารสะอาดและปลอดภัยของรัฐบาล
สำหรับในปี 2552 นั้น ล่าสุดรับทราบมาว่าทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ จำนวน 43.764 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมด้วยวิธีปฏิบัติได้และเห็นผลจริง โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเลี้ยงโคนมและผลิตน้ำนมคุณภาพดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาคัดเลือกสหกรณ์โคนมเพื่อเข้าร่วมโครงการ
ปัญหาน้ำนมดิบของเกษตรกรที่มีจำหน่ายในปัจจุบันที่เกิดขึ้น สหกรณ์โคนมได้รับผลกระทบบ้างในบางส่วน ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยให้สหกรณ์นำน้ำนมดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมกล่องไว้ก่อน เพื่อรอจำหน่าย ทั้งนี้ได้สนับสนุนเงินกู้ทุนหมุนเวียน เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด ส่วนในระยะยาว ได้ให้ความช่วยเหลือให้สมาชิกสหกรณ์โคนมทุกรายส่งขายน้ำนมดิบได้ทั้งหมด พร้อมได้ประสานงานกับผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเป็นแหล่งรับซื้อ
สำหรับนโยบายการจำหน่ายนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ก็จะมีการปรับการจำหน่ายเป็นนมยูเอชที ร้อยละ 70 และเป็นนมพาสเจอไรซ์ ร้อยละ 30 ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการระบายนมแปรรูปในช่วงที่น้ำนมดิบล้นตลาดก่อนหน้านี้ ส่วนที่สหกรณ์และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ผลิตได้จะจำหน่ายเป็นนมโรงเรียน
ส่วนโรงงานผลิตนมพาสเจอไรซ์ของสหกรณ์ ทั้ง 16 สหกรณ์ ที่ผลิตนมพาสเจอไรซ์จำหน่ายเป็นนมโรงเรียนนั้น ในปัจจุบันได้ใช้น้ำนมดิบไปผลิตนมพาสเจอไรซ์ จำนวน 167.67 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 21.50 ของนมโรงเรียนทั้งหมด ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวบ้าง ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะได้เชิญผู้แทนที่เกี่ยวข้อง และสหกรณ์โคนมทั่วประเทศประชุมหารือหรือหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไปในช่วงเดือนมีนาคม 2552 นี้
ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางของการช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมให้ได้มีช่องทางในการตลาด และมีสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ เพราะก่อนหน้านี้ตามที่มีรายงานข่าวเกิดขึ้นตลอดเวลาว่า กิจการโคนมของเกษตรกรหลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่เป็นผลมาถึงด้านเงินทุนจนต้องประกาศขายกิจการหลายรายด้วยกัน ฉะนั้นหากมาตรการดังที่กล่าวมาข้างต้นสามารถเดินเครื่องได้เต็มฝีจักรเมื่อไหร่ก็น่าแน่ใจได้ว่า จะเป็นอีกหนึ่งหนทางของการพลิกฟื้นธุรกิจการเกษตรด้านปศุสัตว์โคนมให้เดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 มีนาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=193801&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า