เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 52
นาย ประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ อุณหภูมิโดยทั่วไปค่อนข้างสูง ในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างซึ่งทำนาปรัง การเจริญเติบโตของต้นข้าวอาจจะชะงัก และยังพบอาการเมาตอซัง ซึ่งรากข้าวจะมีลักษณะดำ เนื่องจากขาดออกซิเจน ทำให้ไม่สามารถดูดธาตุอาหารได้ หากมีน้ำสำรองควรถ่ายน้ำออกจนแห้ง ปล่อยทิ้งระยะหนึ่งจึงเอาน้ำใหม่เข้า หากอยู่ในระยะแตกกอควรให้ปุ๋ย และในบางแห่งที่ข้าวกำลังตั้งท้องใกล้ออกดอก แต่มีฝนตกลมแรงควรใช้สารป้องกันควบคุมโรคเมล็ดด่างที่มีสาเหตุจากเชื้อรา
เพื่อป้องกันการเกิดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิก ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียวเข้ม แคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปกติ ปลายใบบิดเป็นเกลียว ขอบแหว่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงนี้เดือนมีนาคม ศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ข้าว จึงได้ทำการดักแสงไฟที่ศูนย์วิจัยฯในภาคกลาง เพื่อใช้ ตรวจนับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนาข้าว พบว่าในช่วงนี้มีปริมาณแมลงค่อนข้างสูง ดังนั้นเกษตรกรที่ทำนาในเขตภาคกลางควรหมั่นสำรวจแมลงที่โคนต้นข้าว หากพบว่ามีปริมาณสูงมากกว่า 10 ตัว/กอ ควรเร่งหาแนวทางควบคุม สำหรับการเลือกใช้สารฆ่าแมลงนั้น เกษตรกรไม่ควรใช้สารประเภทออกฤทธิ์สัมผัสเร็วอย่างกลุ่มยาไพรีทรอยด์สังเคราะห์ แอลฟาไซเพอร์มิทรินไซเพอร์มิทริน ไซแฮโลทริน เดคาเมทริน เอสเฟนแวเลอเรตเพอร์มิทริน ไตรอะโซฟอส ไอโซซาไทออน ไพริดาเฟนไทออน ควินาลฟอส และเตตระคลอร์วินฟอส เนื่องจากสารกลุ่มนี้จะมีผลต่อศัตรูธรรมชาติอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานของกรมการข้าวใกล้บ้านและที่ศูนย์บริการชาวนาทั้ง 50 แห่งทั่วประเทศ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 19 มีนาคม 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=128579