การผลิตกุ้งยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 52
การผลิตกุ้งยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
วันก่อนมีโอกาสไปเยี่ยมชมการเลี้ยงกุ้งครบวงจร โครงการร้อยเพชร จ.ตราด ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยซีพีเอฟได้พัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ให้มีอัตราผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น มีการจัดการผลผลิตกุ้งสดเข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูปได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า ที่สำคัญฟาร์มเลี้ยงกุ้งแห่งนี้ใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติอย่างแรงโน้มถ่วงของโลกในการย้ายกุ้ง จากบ่อหนึ่ง ไปยังอีกบ่อหนึ่ง จนถึงบ่อจับออก ด้วยหลักการที่ว่า น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เพราะแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานน้ำมันหรือพลังงานไฟฟ้าในการย้ายกุ้งเลย
จากเดิมการเลี้ยงกุ้งจะปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่ เลี้ยงต่อเนื่องไปประมาณ 120 กว่าวัน กุ้งโตได้ขนาดก็จะจับออก แต่ซีพีเอฟ ได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยออกแบบพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ให้มีบ่อต่างขนาดกันตอนปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยงใหม่ ๆ ตัวยังเล็ก ไม่ต้องการพื้นที่มาก ขนาดบ่อก็ไม่ต้องใหญ่นัก เมื่อกุ้งตัวโตขึ้น ต้องการพื้นที่กว้างขึ้นก็ย้ายไปบ่อที่กว้างกว่าเดิม แต่ละบ่อออกแบบให้จัดวางต่อเนื่อง ในระดับความสูงพื้นบ่อที่ลดหลั่นกันลงไป ซึ่งวิธีนี้ เมื่อกุ้งโตได้ขนาดที่ต้องย้ายบ่อเลี้ยง ก็เพียงเปิดให้น้ำจากบ่อที่อยู่สูงกว่า ไหลลงไปยังบ่อถัดไปที่อยู่ต่ำกว่า กุ้งทั้งหมดก็จะไหลตามลงไปด้วย หลักการง่าย ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยพลังงานอย่างอื่นให้สิ้นเปลือง ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งขาวหนาแน่นสูงแบบต่อเนื่อง 3 รุ่น ในโรงเรือนปิดต่างระดับ
เริ่มจากระดับที่ 1 บ่ออนุบาล โดยลูกกุ้งจะถูกนำมาอนุบาลในระบบโรงเรือนปิด ที่ความหนาแน่น 2,700 ตัวต่อตารางเมตร จนกระทั่งลูกกุ้งอายุครบ 25 วัน จะย้ายจากบ่ออนุบาล ผ่านระบบท่อที่เชื่อมต่อไปยังระดับที่ 2 คือ บ่อกุ้งรุ่นได้ โดยอาศัยระดับที่ต่างกันของบ่อเลี้ยง แทนการใช้พลังงาน กุ้งขาวจะถูกเลี้ยงในบ่อกุ้งรุ่น ที่ความหนาแน่น 900 ตัวต่อตารางเมตร ต่อเนื่องอีก 50 วัน ก่อนจะย้ายกุ้งรุ่นไปยังบ่อขุนด้วยระบบต่างระดับเช่นกันระดับที่ 3 บ่อขุน ที่ความหนาแน่น 600 ตัวต่อตารางเมตร ต่อเนื่องอีก 50 วัน เมื่อเลี้ยงครบ 125 วัน กุ้งขาวจะโตได้ขนาด พร้อมที่จะย้ายผ่านระบบท่อต่างระดับที่เชื่อมต่อไปยังบ่อจับออก โดยซีพีเอฟ ยังคำนึงถึงการจับกุ้งอย่างมีประสิทธิภาพ จึงพัฒนาเครื่องจับกุ้งอัตโนมัติ ที่สะดวก รวดเร็ว สามารถรักษาคุณภาพวัตถุดิบกุ้งสดก่อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปได้อย่างดีเยี่ยม
นับตั้งแต่ปล่อยลูกกุ้งขาวซีพีสู่บ่อ อนุบาล จนจับออก ใช้เวลาเลี้ยงรวม 125 วัน ด้วยเทคโนโลยีแยกบ่อเลี้ยงพร้อมกัน 3 รุ่น จึงมีกุ้งลงเลี้ยงทดแทนในบ่อทุกระดับต่อเนื่องตลอดเวลา และจับออกได้ทุก ๆ 50 วัน ส่งผลให้ใน 1 ปี สามารถ เลี้ยงกุ้งขาวซีพีต่อเนื่องได้ถึง 7 รุ่น ได้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่าไร่ละ 90 ตันต่อปี ขณะที่รูปแบบเดิมเลี้ยงได้เพียงปีละ 2-3 รุ่น ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพียง 6 ตันต่อปี
จากการทุ่มเทค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างต่อเนื่องครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์กระทั่งได้กุ้งขาวที่เป็นสายพันธุ์ปลอดโรค มีอัตราการเจริญเติบโตดีมาก อัตรารอดสูง และสามารถเลี้ยงแบบหนาแน่นสูงได้ ตลอดจนการพัฒนาสูตรอาหารพร้อมโปรแกรมอาหารเฉพาะที่เหมาะสมและสนับสนุนการเจริญเติบโตของกุ้งขาวในแต่ละช่วงอายุ รวมถึงการพัฒนาฟาร์มเลี้ยงกุ้งโดยใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงในระบบปิดปลอดเชื้อ ที่เน้นการป้องกันไม่ให้พาหะนำโรคกุ้งทุกชนิดเล็ดลอดเข้าสู่ระบบจัดการน้ำภายในบ่อเลี้ยงด้วยการหมุนเวียนน้ำเข้าสู่ระบบบำบัด แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ แทนการเปลี่ยนถ่ายน้ำ จึงลดโอกาสปนเปื้อนเชื้อจากภายนอก และไม่ก่อผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ยังทำการพัฒนาวิธีจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ โดยใช้จุลินทรีย์ที่เป็นมิตรกับกุ้งแทนการใช้ยารักษาโรคกุ้ง จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันไม่ให้กุ้งขาวซีพีเกิดโรค ทั้งนี้ยังพัฒนาโปรแกรมการเลี้ยงอัตโนมัติ โดยระบบคอมพิวเตอร์จะควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งเครื่องให้อาหาร เครื่องเติมออกซิเจน พัดลมระบายอากาศ สามารถจัดการน้ำในบ่อเลี้ยงให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอระหว่าง 31-33 องศาเซลเซียส แม้ในขณะที่อุณหภูมิหรือสภาพแวดล้อมภายนอกผันแปร จึงสามารถเลี้ยงกุ้งขาวซีพีได้ทุกฤดูกาล
ไม่เพียงประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง แต่ยังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มา ช่วยเสริมให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าทุก ๆ ขั้นตอนที่พัฒนาขึ้นนั้นอยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานควบคู่ไปด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=187160&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า