'พ.ร.บ.สภาเกษตรแห่งชาติ' ความหวังของเกษตรกรไทย
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 52
'พ.ร.บ.สภาเกษตรแห่งชาติ' ความหวังของเกษตรกรไทย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ ขึ้นเพื่อรองรับการจัดตั้ง สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับเกษตรกรรม ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาเกษตรกรฯ เพื่อคุ้มครองและรักษา ผลประโยชน์ของเกษตรกร และส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกรฯภายใน 1 ปี นับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก
สำหรับ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีดังนี้
1.กำหนดให้จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิก ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดเสนอชื่อสมาชิกจังหวัดละหนึ่งคน และสมาชิก ซึ่งเลือกจากตัวแทนองค์กรเกษตรกรด้านพืช ด้านสัตว์ ด้านประมง และด้านเกษตรอื่น ๆ รวม 16 คน กระจายสัดส่วนตามกลุ่มอาชีพและสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคัดเลือกจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านเกษตรกรรม รวม 7 คน ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพืช ด้านสัตว์ และด้านประมง อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน
2.กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตร ให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร จัดทำแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และสนับสนุนวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น เป็นต้น
3.กำหนดให้มีสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “สกช.” ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับผิดชอบงานด้านธุรการของสภาเกษตรกรแห่งชาติ
4.กำหนดให้มีสภาเกษตรกรจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติกำหนด จำนวน 16 คน และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม จำนวน 5 คน โดยอย่างน้อยต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพืช ด้านสัตว์ และด้านประมง อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน
5.กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรจังหวัด ให้พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในระดับจังหวัด ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มขององค์กรเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และยุวเกษตรกรในจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ และรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับราคาและผลผลิตทางเกษตรกรรม
6.กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดขึ้น เรียกโดยย่อว่า “สกจ.” ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับผิดชอบงานด้านธุรการของสภาเกษตรกรจังหวัด
7.กำหนดให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดย มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และเมื่อจัดทำแผนแม่บทแล้วให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาโดยไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทดังกล่าว ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนแม่บท
และสุดท้ายกำหนดบทเฉพาะกาล ในวาระเริ่มแรกให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทำหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดไปพลางก่อนให้คณะกรรมการดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการเสนอชื่อสมาชิก
สภาเกษตรกรฯคือตัวแทนของเกษตรกรที่สามารถเสนอนโยบายและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ภาคเกษตรต้องการให้กับภาครัฐทราบได้โดยตรง ดังนั้นจึงเป็นความมุ่งหวังของเกษตรกรไทยที่จะเห็นสถาบันทางการเกษตรพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงเชื่อมั่นว่าถ้าร่างพระราชบัญญัตินี้สามารถนำมาใช้ได้จริงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการเกษตรไทย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 มีนาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=194844&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า