หนุนเกษตรกรเพาะเห็ดฟางด้วย 'เตาสารพัดประโยชน์'
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 52
หนุนเกษตรกรเพาะเห็ดฟางด้วย 'เตาสารพัดประโยชน์'
อาจารย์ลือพงษ์ ลือนาม อาจารย์ประจำภาควิชาเทคนิคเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าโครงการการพัฒนาเตาผลิตไอน้ำสำหรับโรงเรือนเพาะเห็ด อันเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้ถังขนาด 200 ลิตร ทำเป็นหม้อต้มเพื่อนำไอน้ำเข้าไปฆ่าเชื้อต่าง ๆ ในโรงเรือน โดยนิยมใช้ยางรถยนต์เก่าเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำเนื่องจากมีราคาถูก ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทางโครงการฯ จึงได้พัฒนาเตาอบไอน้ำภายใต้แนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดมลพิษน้อยที่สุดและเกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด
“สำหรับเตาผลิตไอน้ำที่ได้รับการพัฒนาแล้วนั้นมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการสร้างประมาณ 6,000-7,000 บาท โดยจะสร้างจากอิฐมอญก่อเป็นผนังเตาและใช้ถังขนาด 200 ลิตร เป็นหม้อต้มน้ำ ลักษณะของการเผาไหม้จะคล้ายคลึงกับเตาที่ใช้เผาถ่าน ซึ่งคุณสมบัติพิเศษนอกจากจะสามารถผลิตไอน้ำไว้ใช้ในโรงเรือนได้อย่างเพียงพอแล้ว ยังเกิดผลพลอยได้คือถ่านและน้ำส้มควันไม้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง” อาจารย์ลือพงษ์กล่าว
เตาผลิตไอน้ำที่พัฒนาขึ้นนั้นจะใช้เชื้อเพลิงจากวัสดุในธรรมชาติเช่น ไม้ฟืนจากต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ในชุมชน โดยไม้ฟืน 100 กิโลกรัม เมื่อผ่านกระบวนการเผาในเตาจนแล้วเสร็จก็จะได้ “ถ่านไม้” ประมาณ 25 กิโลกรัม หรือคิดเป็นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนัก ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปขายได้ในราคากิโลกรัมละ 7 บาท ในขณะที่รับซื้อไม้ฟืนมาในราคาเพียงตันละ 500-600 บาทเท่านั้น หักค่าใช้จ่ายแล้วเท่ากับว่ามีรายได้เสริมจากการเผาถ่านประมาณ 1,150-1,250 บาท นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ “น้ำส้มควันไม้” ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นฮอร์โมนหรือสารไล่แมลงในการทำการเกษตรได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายกันในราคาลิตรละ 70 บาท
กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเห็ดบ้านดงข่า ต.เกาะโพธิ์ อ.ปากพลี จ.นครนายก เป็นกลุ่มเกษตรกรเคยประสบปัญหามลพิษจากควัน เขม่า และกลิ่นที่เกิดขึ้นจากเตาอบไอน้ำที่ใช้ยางรถยนต์เก่าเป็นเชื้อเพลง ซึ่งนอกจากจะรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพของตัวเอง จึงเริ่มเห็นความสำคัญและหันมาร่วมมือกับโครงการฯ ในการร่วมทำการวิจัยพัฒนาเตาผลิตไอน้ำด้วยการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ โดยมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพการเพาะเห็ดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
นายสมพงษ์ ดีอาษา แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเห็ดบ้านดงข่า เปิดเผยว่าในอดีตการใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิงได้ก่อปัญหากับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก แต่เมื่อมีโครงการดี ๆ เข้ามา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เพาะเห็ดกับชาวบ้านก็ดีขึ้น บ้านไหนที่มีต้นไม้ที่ขึ้นเองตามหัวไร่ปลายนาอย่างกระถินณรงค์ ชาวบ้านก็เริ่มที่จะตัดมาขายให้เราเท่ากับว่าเป็นรายได้ของชาวบ้านอีกทาง
การดำเนินงานของโครงการฯ ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน นอกจากจะทำให้ได้รับความร่วมมือที่ดีจากชาวบ้านแล้ว ยังก่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเห็ด และทำให้เกษตรกรที่มีอาชีพเพาะเห็ดฟางสามารถอยู่ร่วมกับเกษตรกรอาชีพอื่น ๆ ได้โดยไม่ก่อปัญหามลพิษให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 มีนาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=194843&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า