เมื่อวันที่ 2 เมษายน 52
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่จากการประเมินพบว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ทั้งในตัวเมือง และชนบทต่างเมินเรียนทางด้านการเกษตร บางแห่งถึงขนาดเปิดให้นักเรียนเรียนฟรี
แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ คณะเกษตรศาสตร์ จำนวนผู้ที่สมัครเข้าสอบลดน้อยลงเห็นได้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี จึงใช้พื้นที่กว่า 200 ไร่ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทำแปลงเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ส่งออก ภายใต้โครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน โดยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทำแปลงเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้เพื่อส่งออกและถ่ายทอดด้านวิชาการเกี่ยวการผลิตกล้วยไม้ให้แก่นักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาเทคโนโลยีกล้วยไม้ครบวงจร
สมคิด เจริญวัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี กล่าวถึงการใช้พื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรฯ เพชรบุรี 200 ไร่ ให้เอกชนทำแปลงเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ว่า เดิมทีมีการหารือกับภาคเอกชน คือศูนย์บ่มเพาะอาชีพกล้วยไม้ระพี กัลยา สาคริก ต่างวิตกว่าต่อไปเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจภาคเกษตรน้อยมาก โดยเฉพาะด้านกล้วยไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ตลาดต่างประเทศกำลังต้องการ ในที่สุดวิทยาลัยเกษตรฯ เพชรบุรี ได้เปิดหลักสูตรเกี่ยวกับกล้วยโดยตรงเป็นแห่งแรกของประเทศไทยคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีกล้วยไม้ อยู่ในแผนกวิชาพืชศาสตร์ โดยช่วงแรกนักศึกษารุ่นแรกๆ ต้องอาศัยเรียนรู้ในแปลงกล้วยไม้ของภาคเอกที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้ส่งออกแหล่งใหญ่ของประเทศไทย
ตอนหลังเห็นว่าพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรฯ เพชรบุรี มีที่ว่างเปล่าอยู่ จึงหารือกับเอกชนดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ซึ่งภาครัฐนั้นดำเนินโดยวิทยาลัยเกษตรฯ เพชรบุรี ส่วนภาคเอกชนดำเนินการโดยมูลนิธิระพี กัลยา สาคริก เพื่อทำแปลงเพาะขยายกล้วยไม้เพื่อส่งออก โดยมีศูนย์บ่มเพาะอาชีพกล้วยไม้ระพี กัลยา สาคริก เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาด้านการผลิตกล้วยไม้ให้แก่นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีกล้วยไม้ แผนกวิชาพืชศาตร์ วิทยาลัยเกษตรฯ เพชรบุรี ครบวงจรคือตั้งแต่การเพาะขายพันธุ์ทั้งระบบแยกก่อ การเพาะเนื้อเยื่อ การดูแล ตลอดจนการเก็บตัดออก คัดเลือกแพ็กส่งออก เป็นต้น
ด้าน ปรีญา ปิ่นเงิน อาจารย์ประจำแผนกพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี ผู้ประสานงานโครงการ บอกว่า แปลงเพาะขยายกล้วยไม้แห่งนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ในเนื้อที่ทั้งหมด 200 ไร่ มีกล้วยไม้ 8 สกุลหลายร้อยชนิด โดยมีเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ 3 ราย คือ สุวิชัย แสงเทียน ประธานชมรมกล้วยไม้ราชบุรี ปลูกกล้วยไม้ตัดดอกเน้นสกุลหวาย และออนซิเดียม, ดร.อุทัย จาราณศรี ลูกศิษย์คนสนิท ศ.ระพี สาคริก บิดากล้วยไม้ของไทย เน้นฟาแลนนอฟซีส และ จิตติ รัตนเพียรชัย เน้นหวายและมอคคาร่า ตัดดอก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์อื่นๆ อีกที่กำลังศึษาอยู่ไม่ว่าจะเป็นสกุลช้าง รองเท้านารี แวนด้า แคทลียา เป็นต้น
"ของเราเน้นการขยายพันธุ์ พัฒนาสายพันธุ์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอยู่ในระดับการทดลองมากกว่า ตอนนี้กล้วยที่เราพัฒนาได้สายพันธุ์และได้จดทะเบียนการค้าไว้แล้ว 1 สายพันธุ์ คือ จุหลิน ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างฟิลิปปินส์แนนซี่กับกล้วยไม้ป่าของไทย ในส่วนของการค้านั้นทางเอกชนได้ตัดดอกขายและส่งออกมาแล้ว 2 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นตระกูลหวาย ขณะที่กล้วยไม้กระถางมีเพียงฟาแลนนอฟซิส ซึ่งที่นี่เราขายถูกมากและถูกที่สุดในประเทศไทยคือ ต้นละมีดอกแล้ว 35 บาทเท่านั้น" ปรีญา กล่าว
ก็นับเป็นโครงการที่น่าสนใจอีกโครงการหนึ่งที่จะปลูกฝังเยาวชนให้มีความรู้ด้านกล้วยไม้อย่างแท้จริง หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมแปลงกล้วยไม้สุดอลังการแห่งนี้ โต๊ะข่าวเกษตร "คม ชัด ลึก" จัดโครงการทัศนศึกษาไปยัง จ.เพชรบุรี ในวันที่ 5 เมษายนนี้ จะพาไปชมโครงการนี้ด้วย สอบถามได้ที่โทร.0-2338-3356-7
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 2 เมษายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090402/7813/ใช้ที่วิทยาลัยเกษตรปลูกกล้วยไม้เอกชนได้ผลผลิตนศ.ได้เรียนรู้.html