เมื่อวันที่ 6 เมษายน 52
แม้ “มะม่วง” เป็นสินค้าเกษตรตัวหนึ่ง ที่มีการส่งขายในตลาดต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ จีน เกาหลี ไต้หวัน ปีหนึ่งมีมูลค่านับล้านๆบาท แต่ก็ยังคงมีบางประเทศหยิบยกเอา “แมลงวันทอง” ขึ้นมาเป็นข้อกีดกันการส่งออก ส่งผลให้ในอดีตที่ผ่านมามีการนำสารเคมีมาใช้ฉีดพ่นในสวนไม้ผล แต่วิธีการดังกล่าว “หมิ่นเหม่” ในด้านสารตกค้าง
เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยถูกสุขอนามัยผู้บริโภค ผศ.ดร.จาตุพงศ์ วาฤทธิ์ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคณะจึงทำการศึกษา “พัฒนาเทคนิคการอบร้อนมะม่วงด้วยไมโครเวฟ” ในการให้ความร้อนแก่มะม่วงเพื่อการส่งออก ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนสนับสนุน
ผศ.ดร.จาตุพงศ์ เล่าให้ฟังว่า การกำจัดหนอนแมลงวันทองในผลไม้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะใช้การอบไอน้ำต้องใช้ระยะเวลานาน ผู้ประกอบการส่งออกในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบปัญหาหลังนำมะม่วงไปผ่านขบวนการดังกล่าวในระดับอุตสาหกรรมแล้ว บางส่วนได้รับความเสียหายเนื่องจากความร้อน ซึ่งมักจะปรากฏที่ปลายทางขนส่ง
จากข้อมูลของศูนย์พัฒนาการผลิตและควบคุมศัตรูผักผลไม้เพื่อการส่งออก รายงานว่า การอบไอน้ำโดยให้จุดเย็นสุดที่ชิดเมล็ดของผล อาจส่งผลทำให้เกิดปฏิกิริยาภายใน นอกจากนี้ความร้อนทำให้คุณภาพลดลง อีกทั้งระยะเวลาที่ใช้ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น...
เพื่อเป็นทางเลือกทีมวิจัยจึงศึกษาขบวนการทำงาน “คลื่นไมโครเวฟ” เป็นตัวแปรทำให้เกิดความร้อนในอาหาร ในระยะเวลารวดเร็ว โดยระยะแรกทำการทดสอบเพื่อดูการกระจายตัวของความร้อนในผลมะม่วง จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการทดลองในระยะที่ 2 เป็นการ “พัฒนา กระบวนการอบร้อนให้สมบูรณ์โดยใช้ไมโครเวฟร่วมกับไอน้ำ และทำการลดอุณหภูมิให้ได้ระดับที่สามารถเก็บรักษาโดยไม่มีการเสียหายเชิงคุณภาพ”
การทดลองใช้คลื่นไมโครเวฟในมะม่วง 2 พันธุ์ คือ “โชคอนันต์” กับ “น้ำดอกไม้สีทอง” ขนาด 300-350 กรัม/ผล หลังทำการวัดหาค่าอุณหภูมิที่เหมาะสม พบว่า ประสิทธิภาพในการกำจัดกักกันหนอนแมลงวันทองควรสูงกว่า 46 องศาเซลเซียส โดยมีช่วงเวลาการรักษาอุณหภูมิคงที่แตกต่างกันได้ถึง 20 นาที จากค่าดังกล่าวจึงนำมาพัฒนากระบวนการอบร้อนด้วยไมโครเวฟที่ขนาด 400 วัตต์
โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที จะได้ อุณหภูมิภายในผลมะม่วงในระดับ 48-55 องศาเซลเซียส ร่วมกับไอน้ำเพื่อคงอุณหภูมิมะม่วงไว้ แล้วจึงลดอุณหภูมิด้วยน้ำเย็น เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพดี สามารถลดระยะเวลาการอบร้อนทั้งกระบวนการ เมื่อเปรียบเทียบกับการอบด้วย ไอน้ำปกติได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงการให้ความร้อนขั้นต้น
ขบวนการดังกล่าว ส่งผลทำให้หนอนระยะไข่มีอัตราการตาย 100 เปอร์เซ็นต์ การเปลี่ยนแปลงสมบัติทางกายภาพและเคมี ได้แก่ สี ปริมาณกรดไตเตรทได้ปริมาณสารละลายน้ำทั้งหมด ซึ่งเปรียบเทียบแล้วไม่มีความแตกต่างจากมะม่วงสด นอก จากนี้ การใช้คลื่นไมโครเวฟยังไม่ทำให้เกิดความเสียหายที่เปลือกน้อยกว่าการอบด้วยไอน้ำแบบปกติ
แต่ยังมีจุดอ่อนคือ การเกิดความร้อนสูงเป็นบางจุด ดังนั้น ทีมวิจัยจึงต้องทำการศึกษาเชิงลึกถึงลักษณะของสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะสามารถออกแบบระบบที่มีการกระจายตัวของคลื่นฯ สามารถลดข้อจำกัดที่เป็นจุดอ่อนของวิธีการนี้ลงได้
ผลงานวิจัยดังกล่าวจึงนับว่าเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ที่นำองค์ความรู้พื้นฐานทั้งทางด้านวิศวกรรมกีฏวิทยา มาพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้การส่งออกเปิดกว้างสามารถบุกตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-5387-8113 ในวันเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 6 เมษายน 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=131508