เกษตรฯ ตั้งป้อมรับมือผลไม้ล้นตลาด
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 52
เกษตรฯ ตั้งป้อมรับมือผลไม้ล้นตลาด
แม้ปีนี้ปริมาณผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังมีปัญหาการกระจุกตัวของผลผลิตในช่วงกลางฤดูกาล โดยเฉพาะเงาะและมังคุดคาดว่าจะมีผลผลิตส่วนเกิน ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ปี 2552 ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด เพื่อลดผลกระทบและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ในเบื้องต้นการกระจายผลผลิตไป สู่ผู้บริโภคจะให้เป็นไปตามกลไกปกติของตลาด ประมาณ 473,128 ตัน
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการฯยังได้มอบหมายให้ทั้ง 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี และตราด) จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ของจังหวัดเอง ซึ่งจังหวัดได้เตรียมจัดสรรงบประมาณ จำนวน 35,669,400 บาท อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย โดยมี 7 แนวทาง คือ
1.บริหารจัดการข้อมูล ด้วยการประมาณการผลผลิตล่วงหน้าเพื่อ จะได้วางแผนบริหารจัดการผลไม้ ทั้งยังเร่งจัด WARROOM เพื่อติดตามเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์ปัญหาในฤดูกาลเก็บเกี่ยวอย่างใกล้ชิด
2.พัฒนาและควบคุมคุณภาพสินค้า โดยเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้และรณรงค์ให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพสินค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเข้าสู่ระบบ GAP ส่งเสริมและพัฒนาโรงคัดบรรจุตามระบบ GMP ตลอดจนตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกโดยเฉพาะทุเรียน
3.เพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มช่องทางกระจายผลผลิตภายในประเทศ เน้นอำนวยความสะดวกแก่พ่อค้า/ผู้รับซื้อผลไม้ทั้งในและนอกพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนและเครือข่ายเกษตรกร ช่วยรวบรวมผลผลิตป้อนให้กับผู้รับซื้อกลุ่มต่าง ๆ ทั้งยังมุ่งส่งเสริมการกระจายผลไม้ผ่านตลาดค้าส่งปลายทาง มีการจัดหาเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร อาทิ เงินกู้ยืมจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 90 ล้านบาท และสนับสนุนตะกร้า/กล่องกระดาษเพื่อใช้บรรจุผลไม้ระบายสู่ท้องตลาด เป็นต้น
4.ขยายการส่งออก โดยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออก รวมทั้งเร่งเจรจาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สินค้าผลไม้ไทยผ่านเข้า-ออกได้สะดวก และจะขยายการส่งออกผ่านชายแดนไปยังกัมพูชาและเวียดนาม
5.ส่งเสริมการแปรรูป เน้นสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลไม้ในท้องถิ่น พร้อมเชื่อมโยงการซื้อขายผลผลิตระหว่างสหกรณ์/ วิสาหกิจชุมชน/เครือข่ายเกษตรกรกับโรงงานแปรรูป
6.กระตุ้นการบริโภค ซึ่งได้เตรียมแผนส่งเสริมการจัดงานเทศกาลผลไม้ประจำปี จัดให้มีจุดจำหน่ายผลไม้คุณภาพสำหรับนักท่องเที่ยว และกรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้ประชาชนบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น
7.มาตรการรองรับกรณีฉุกเฉิน อาทิ กำหนดราคาเป้าหมายที่เกษตรกรควรได้รับ หรือจังหวัด/ท้องถิ่นช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ และกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนเงิน คชก. ช่วยในการกระจายสินค้า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยแก้ไขปัญหาผลไม้ล้นตลาดและราคาตกต่ำได้
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯได้ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ไทย ระยะ 5 ปี (2553-2557) ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจ ให้พิจารณาเห็นชอบ สำหรับสาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ฯนี้ เน้นพัฒนาและ แก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง ลำไย โดยมุ่งส่งเสริมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณ ระยะเวลาและราคา พร้อมสนับสนุนให้กลไกตลาดดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดรับตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และกฎระเบียบ มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผลไม้ไทย ซึ่งจะช่วยคงความเป็นผู้นำและเป็นผู้ผลักดันการเพิ่มส่วนแบ่งสินค้าผลไม้เมืองร้อนในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไม่ควรตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสารด้านปริมาณผลผลิต เพราะภาครัฐได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับไว้แล้ว ซึ่งในส่วนของเกษตรกรก็ควรเตรียมตัวเช่นกันในด้านของการทำผลผลิตให้มีคุณภาพ มีการปรับปรุงบำรุงสวนอยู่เสมอ หากจะขายผลผลิตให้รวมกลุ่มกันขาย อย่าเทขายพร้อมกัน และอย่าขายคละเกรด เพราะจะทำให้ไม่ได้ราคา นอกจากนี้ควรติดตามข่าว สารอย่างใกล้ชิดและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอยู่ตลอดเวลา
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 เมษายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=195388&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า