เมื่อวันที่ 7 เมษายน 52
นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์ "เครื่องแยกน้ำมันดินจากน้ำส้มควันไม้" ราคาประหยัด แถมช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ขณะที่ผลิตผลน้ำส้มควันไม้ที่ได้ก็มีคุณภาพสูงพร้อมที่เกษตรกรจะนำไปใช้ในไร่นาทดแทนการใช้สารเคมี หรือใช้กับกิจการปศุสัตว์ได้ผลดีเกินคาด
เจ้าของผลงานเครื่องแยกน้ำมันดินนี้คือ นายศักดิ์ชัย แดงน้อย และ นายกรกต พลายละหาร แห่งภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยการนำของ ผศ.ดร.จันทิมา ชั่งสิริพร อาจารย์ของภาควิชา ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้หลักการแยกน้ำมันดินออกจากควันไม้ได้ก่อนการควบแน่นเป็นน้ำส้มควันไม้ ทำให้ได้ผลิตผลน้ำส้มฯ ที่ไม่ปนเปื้อนน้ำมันดิน (น้ำมันดิน <0.5%) และด้วยระบบการควบแน่นที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สารสำคัญที่อยู่ในควันไม้ควบแน่นออกมาได้อย่างครบถ้วน ไม่หลุดติดไปกับควันไม้ แถมมีคุณภาพสูง (pH<2.6) นอกจากนั้นเจ้าเครื่องนี้ยังช่วยลดระยะเวลาการเผาไม้เพื่อการผลิตน้ำส้มได้อีกด้วย
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วน้ำส้มควันไม้จะใช้ประโยชน์สำหรับใช้เป็นสารเกษตรอินทรีย์ และใช้กับกิจการปศุสัตว์ ซึ่งมีคุณสมบัติใช้ทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตรายได้ โดยการนำน้ำส้มควันไม้มาผสมน้ำและพ่นในดินเพื่อฆ่าจุลินทรีย์และแมลงในดิน ช่วยลดปัญหาโรคราและโรคเน่าของต้นไม้ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันแมลงไม่ให้เข้ามาวางไข่ ช่วยขับไล่แมลง ซึ่งส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและเพิ่มน้ำตาลในผลไม้ได้อีกด้วย ขณะเดียวกันยังช่วยลดกลิ่นและแมลงในฟาร์มปศุสัตว์ ใช้ผสมอาหารสัตว์เพื่อช่วยในการย่อย ทำให้สัตว์ในฟาร์มลดการเกิดอาการท้องเสีย
"คุณประโยชน์มากมายของน้ำส้มควันไม้ ทำให้ได้รับความนิยมจากกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูกรวมถึงกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ แต่ที่ผ่านมากระบวนการผลิตน้ำส้มควันไม้จะต้องใช้เวลานานถึง 2-3 เดือนในการตกตะกอนเพื่อแยกน้ำมันดินออกก่อนการนำน้ำส้มควันไม้มาใช้ประโยชน์ ซึ่งจากสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษากลุ่มนี้ทำให้สามารถแยกน้ำมันดินออกจากควันไม้ได้ก่อนการควบแน่นเป็นน้ำส้มควันไม้โดยอาศัยหลักการทางวิศวกรรมเคมี จึงช่วยย่นระยะเวลาในการผลิตน้ำส้มควันไม้ได้เป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรสามารถนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น” ผศ.ดร.จันทิมา กล่าว
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังกล่าวด้วยว่า เครื่องแยกน้ำมันดินจากน้ำส้มควันไม้มีราคาค่าใช้จ่ายในการสร้างเครื่องมือที่ไม่สูงมากนัก รวมถึงมีขั้นตอนการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก จึงสามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้จริงในกลุ่มผู้ผลิตน้ำส้มควันไม้ทั้งกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อการช่วยลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาชีพได้อีกด้วย
ทั้งนี้จากประสิทธิภาพของสิ่งประดิษฐ์ทำให้นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้ง 2 คนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ค่ายนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2552 ที่จัดขึ้นในวันนักประดิษฐ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ซึ่งมอบให้แก่สิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ เมื่อช่วงต้นปีผ่านมา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 เมษายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090407/8485/ผลิตเครื่องแยกน้ำมันดินฯลดต้นทุนทุ่นแรงเกษตรกร.html