เมื่อวันที่ 8 เมษายน 52
เมื่อกระแสการ “เปิบ” อาหารปลอดภัย ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้นทุกขณะ เกษตรกรชาวสวนทั้งหลายจึงหันมาปรับเปลี่ยน มุ่งสู่การผลิต “พืชผักอินทรีย์” เกษตรกรผลิตม่ะม่วงนอกฤดูสายพันธุ์น้ำดอกไม้ ส่งออกตลาดต่างประเทศได้ “ฉลุย”
“มะม่วง” ก็เป็นหนึ่งในผลิตผลที่ไทยส่งไปขายในตลาดเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ มาเลย์ ฮ่องกง จีน ปีหนึ่งมีมูลค่านับล้านๆบาท และผลผลิตจากนิคมเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เป็นหนึ่งที่ติดปลายนวมกับเขาเช่นกัน
นายสุชาติ ขาวบาง ชาวบ้านตำบลอ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่ทั้งหมด 40 ไร่ ก่อนหน้านั้นปลูกสับปะรด ช่วงราคาตกต่ำ จึงเดินทางไปดู “การทำสวนมะม่วง” แถว จังหวัดสุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา เห็นว่าราคารับซื้อต่อกิโลกรัมค่อนข้างดีกว่าสับปะรด จึงเบน “เข็มอาชีพ” หันมาทำสวนมะม่วง พันธุ์ฟ้าลั่น เขียวเสวย เพราะเข้าใจว่าส่งออกได้
แต่เอาเข้าจริงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก ตลาดต่างประเทศชอบสายพันธุ์น้ำดอกไม้ที่มี “รสหวานปนเปรี้ยว” ต้องโค่นออกเปลี่ยนมาปลูกน้ำดอกไม้สีทองเป็นหลัก และเพื่อให้ส่งออกตลาดต่างประเทศได้ “ฉลุย” ไม่มีปัญหาตามมา จึงเข้าโครงการเปลี่ยนระบบการผลิตที่ถูกต้องตั้งแต่พื้นที่ปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว (GAP) กับ กรมวิชาการเกษตร ใช้เวลาอยู่นานกระทั่งผ่านเกณฑ์ และได้มาตรฐานสินค้าเกษตรตัว Q
“...หากมุ่งเคมีอาทิปุ๋ย ยา อย่างเดียวก็ไม่ไหว จึงเริ่มหันมาใช้อินทรีย์ เริ่มจากทำปุ๋ยใช้เองก่อน โดยสั่งมูลโคมาโรยตามโคนต้น ตามด้วยน้ำหมักชีวภาพฉีดทับ เพราะเรามีใบอินทรียวัตถุของพืชอยู่แล้วตามโคนต้น ฉีดน้ำหมัก เมื่อฝนตกก็จะย่อยสลายเอง ไม่ต้องเสียเวลา การลัดขั้นตอนดังกล่าวก็ได้ผลเหมือนกัน ส่วนเคมียังคงใช้บ้างแต่จำนวนน้อยลง...”
พร้อมทั้งหันมาทำ มะม่วงนอกฤดู การจัดการเริ่มจากตัดแต่งกิ่งเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ถ้ามีน้ำเพียงพอก็จะ ดึงใบ (แตกใบใหม่) โดยใช้สารไทโอยูเรีย ประมาณครึ่ง กก. น้ำ 200 ลิตร ควบคู่ น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร ฉีดพ่นทางใบ ช่วงเช้าหากแดดแรงต้องหยุด และฉีดอีกครั้งตอนเย็น สังเกตพอแตกใบอ่อน จะราดสารแพคโคบิวทาโซน ยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช ในทางตรงกันข้ามจะสร้างตาดอกแทน หลัง 30 วัน ต้นจะเริ่มสะสมตาดอก
การใส่ปุ๋ยก็ต้องรู้สภาพดิน ฟ้า อากาศ ไม่ใช่รู้มาสูตรไหนใส่สูตรนั้น ทำให้ไม่ได้ผล ยิ่งการทำสวนมะม่วงนอกฤดูไม่มีสูตรที่ตายตัว หากทำตามหลักวิชาการ “เป๊ะๆ” ก็ไปไม่รอด เพราะต้องดูด้วยว่าสภาพอากาศ การตัดแต่งทรงพุ่ม พื้นที่ไปดูงานมาเหมือนกับของเราหรือไม่ หากฝนไม่มากจะใส่ปุ๋ยสูตร 0-52-34 ซึ่งเป็นปุ๋ยกรด ฉีดพ่นทางใบ ทางดินจะใส่ 8-24-24 นิดหน่อย แต่ถ้าฝนตกชุกต้องเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตร 0-42-56 ซึ่งเป็นปุ๋ยด่าง
จากนั้น 1 เดือน จะดึงตาดอก ตามหลักวิชาการจะใช้สาหร่ายทะเล ซึ่งมีราคาลิตรละ 200-300 บาท/น้ำ 1,000 ลิตร ทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนมาใช้ ไทโอฯ ควบ โปแตสเซียม ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ฉีดพ่น เมื่อดอกออก ต้องบำรุงรักษาให้แข็งแรง การดูแลมีหลายวิธีสังเกตหากธาตุอาหารเพียงพอก็ไม่ต้องบำรุงมาก และต้องรู้ด้วยว่าควรใส่ธาตุอาหารชนิดใดลงไป
พร้อมทั้งกำจัดแมลง ในครั้งแรกจำเป็นต้องใช้เคมีเพื่อ “ล้างดง” เป็นการ “น็อก” ให้แมลงศัตรูพืชตายก่อน จึงเริ่มใช้ชีวภาพ ก่อนดอกบาน 3-5 วัน ควรหยุดเพื่อป้องกันเรื่องสารตกค้างช่อดอก เพราะจะทำให้แมลงไม่สามารถผสมเกสรได้ ทำให้ไม่ติดดอกผล และเมื่อผลมีขนาดเท่าหัวไม้ขีด จึงฉีดยาซึ่งจะทำให้ขั้วผลแข็งแรงดูแลจะง่ายขึ้น
การประยุกต์ ปรับเปลี่ยนระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ในปี' 49 สวนของสุชาติสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของจังหวัดมาได้ เกษตรกรรายใดที่สนใจจะลดต้นทุนสามารถ กริ๊งกร๊างสอบถามรายละเอียดกันได้ที่โทร.08-1744-5656 ในเวลาที่เหมาะสม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 8 เมษายน 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=131817