เมื่อวันที่ 8 มกราคม 52
ตลอดเวลากว่า 20 ปี ที่ "นิมิตร รอดภัย" เจ้าของสวนเห็ดรุจิราใน จ.กาฬสินธุ์ อดีตนักวิชาการเกษตร เจ้าของฉายา "ดอกเตอร์เห็ด" ซึ่งลาออกจากข้าราชการ และได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ
ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์เห็ดหลายชนิด ทั้งเห็ดกระด้าง เห็ดนางรม เห็ดบด เห็ดภูฐาน เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหลินจือ ล่าสุดได้วิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์ "เห็ดนางฟ้าหนาว" จนสามารถเพาะจำหน่าย ส่งเสริมชาวบ้านในพื้นที่ยึดเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้เดือนหลักหมื่นบาท
นิมิตรกล่าวว่า หลังจากทำการวิจัยและทดลองปรับสายพันธุ์การเพาะเห็ดนางฟ้า ซึ่งเป็นเห็ดที่เกิดและให้ผลิตผลได้ดีเฉพาะพื้นที่ที่สภาพอากาศหนาวเย็น โดยใช้เวลาลองผิดลองถูกนานกว่า 5 ปี ขณะนี้สวนเห็ดของตนเองบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ สามารถเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าในพื้นที่ภาคอีสาน พื้นที่ซึ่งมีอากาศร้อนได้สำเร็จและมีคุณภาพเป็นแห่งแรก โดยตั้งชื่อว่า "เห็ดนางฟ้าหนาว"
จากการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ดังกล่าว ทำให้ผลผลิตเห็ดนางฟ้าหนาวของสวนรุจิราแตกต่างจากที่อื่น เพราะมีขนาดดอกใหญ่ หนา มีน้ำหนักดี ที่สำคัญมีรสชาติดีกว่าเห็ดนางฟ้าจากที่อื่นด้วย
"ตอนนี้เห็ดนางฟ้าเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เพราะประชาชนนิยมบริโภค แต่ตรงข้ามเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นิยมเพาะเลี้ยงมากนัก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องช่วงเวลา ที่เพาะเลี้ยงได้ในช่วงสั้นๆ คือช่วงหน้าหนาวเท่านั้น ส่งให้ผลผลิตมีขายไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งเกษตรกรบางรายเลิกกิจการ จึงทำให้เกิดภาวะขาดตลาด ส่งผลให้มีราคาแพง" นิมิตร แจง
พร้อมเผยต่อว่า ปัจจุบันเห็ดนางฟ้าหนาวของสวนเห็ดรุจิราจำหน่ายในราคาส่งกิโลกรัมละ 45 บาท เมื่อเข้าสู่ท้องตลาดจะสามารถจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท สร้างรายได้ให้แก่เจ้าของสวนเห็ด โดยการขายเห็ดนางฟ้าหนาวอย่างเดียวตกเดือนละกว่าหมื่นบาท
ส่วนขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าหนาวในถุงพลาสติกนั้น เจ้าของสวนเห็ดบอกว่า ควรดำเนินการเพาะราวเดือนสิงหาคม ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว โดยมีสูตรผสมสำหรับผลิตก้อนเชื้อ ดังนี้ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 7 กิโลกรัม แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม ดีเกลือ 2 ขีด ยิปซัม 5 ขีด ปูนขาว 1 กก. ภูไมท์ 2 กิโลกรัม
"จากนั้นนำส่วนผสมต่างๆ มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วอัดใส่ถุงพลาสติก นำไปนึ่งฆ่าเชื้อโรค เสร็จแล้วจึงนำหัวเชื้อที่เตรียมเอาไว้มาเพาะเลี้ยง บ่มจนกระทั่งเส้นใยเจริญเต็มถุงพลาสติกแล้ว จึงนำไปชะลอการเจริญเติบโต เพื่อรอเวลาในการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ดต่อไป"
นิมิตรบอกอีกว่า หากผู้ใดสนใจเพาะเห็ดชนิดนี้ แต่ไม่ต้องการผลิตก้อนเห็ดเอง ทางสวนของตนมีไว้บริการ ที่สำคัญเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่สนใจเข้าไปเรียนรู้วิธีการผลิตก้อนเห็ด เรียนรู้การเพาะเห็ดนางฟ้าหนาว หรือเห็ดชนิดอื่นๆ ที่มีกว่า 10 ชนิด ได้ตลอดทุกวัน
"ขณะนี้ที่สวนเห็ดของเราจะส่งเสริมให้เกษตรกรนำเห็ดนางฟ้าหนาวไปเพาะเลี้ยง เพื่อสร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรสนใจนำไปเพาะเลี้ยงแล้วหลายสิบราย สามารถเพิ่มรายได้จุนเจือครอบครัวได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาททีเดียว"
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเพาะเห็ดนางฟ้าหนาวและเห็ดอื่นๆ ได้สำเร็จแล้ว นิมิตรยังบอกว่า ที่สวนเห็ดของเขายังเพาะเห็ดหลินจือแบบพึ่งพาธรรมชาติ โดยการเพาะเลี้ยงในดิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองวิจัย หากการเพาะเลี้ยงสำเร็จด้วยดี สวนเห็ดของเขาก็จะเป็นแห่งแรกของประเทศที่เพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือในดินได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 8 มกราคม 2552
http://www.komchadluek.net/2009/01/08/x_agi_b001_330575.php?news_id=330575