3 องค์กรรณรงค์การประกอบอาชีพ สวนยางพาราอย่างถูกหลักวิชาการ
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 52
3 องค์กรรณรงค์การประกอบอาชีพ สวนยางพาราอย่างถูกหลักวิชาการ
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติมากที่สุดของโลก มีสัดส่วนการผลิตเป็นร้อยละ 34 ของปริมาณการผลิตของโลกและส่งออกร้อยละ 47 ของปริมาณการส่งออกยางทั้งหมดของโลก อย่างไรก็ตามปริมาณยางธรรมชาติที่ไทยผลิตได้ ร้อยละ 89 ส่งออกในรูปของวัตถุดิบ ทำให้ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นสำคัญ ความต้องการยางธรรมชาติเป็นความต้องการต่อเนื่อง และจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางซึ่งประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณการใช้ยางธรรมชาติทั้งหมดใช้ในอุตสาหกรรมยานพาหนะ ความต้องการใช้ยางธรรมชาติจึงขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ราคายางขึ้นอยู่กับความต้องการใช้และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย
เพื่อให้ไทยคงความเป็นผู้นำ
ยางพาราของโลกและมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางพาราให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยางของประเทศและของโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพการผลิตการพัฒนา อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และการพัฒนาตลาดยางไทยสู่สากล บนพื้นฐานของความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางในการรักษาเสถียรภาพราคายาง การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ และการเร่งรัดการวิจัยและพัฒนายางแบบครบวงจร ซึ่งการดำเนินการปรับโครงสร้างให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการยางตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรจะต้องมีความร่วมมือและดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบภายใต้กลยุทธ์ กิจกรรมที่สอดคล้องและเอื้อประโยชน์ต่อกัน
และความคืบหน้าล่าสุดในบางพื้นที่ของเรื่องนี้ นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์โดย สหกรณ์จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับองค์การสวนยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดจันทบุรี ได้เผยแพร่ความรู้ หลักการ วิธีการ การประกอบอาชีพสวนยางที่ถูกหลักวิชาการอย่างแท้จริง นับตั้งแต่การปลูกสร้างสวนยาง การบำรุงรักษา การกรีดยางที่ไม่ทำลายต้นยาง การเก็บผลผลิตยางที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดการด้านการขายยางในตลาดท้องถิ่นอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะการดำเนินงานภายใต้รูปแบบสหกรณ์ ที่เกษตรกรมีการรวมตัวกันเพื่อมีอำนาจในการต่อรองด้านราคา และการเอื้ออำนวยในปัจจัยการผลิต
“จะมีการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการ เพื่อการเพิ่มผลผลิตยางพารา การแปรรูป ตลอดจนการจัดการตลาดยางพาราในระดับท้องถิ่นและตลาดในชุมชน พร้อมทั้งการสร้างเครือข่ายเกษตรกรยางพาราอย่างครบวงจร เพื่อเป็นการต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิต และการขายผลผลิตยางพารา อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรสวนยางในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียง” นางสาวสุพัตรา อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้พื้นที่เพาะปลูกยางพาราจังหวัดจันทบุรีมีทั้งหมด 369,750 ไร่ พื้นที่ที่กรีดน้ำยางและให้ผลผลิตมีจำนวน 295,920 ไร่ ผลผลิตยางจำนวน 85,521 ตันต่อปี และผลผลิตเฉลี่ย 289 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันเกษตรกรในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ นิยมปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีรายได้ที่มั่นคงและยางพารายังเป็นพืชที่สามารถ ปรับตัวเหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้ไม่แพ้ภาคใต้ซึ่งเคยปลูกยางมานาน ตลอดจนยางพารายังเป็นพืชที่ทำรายได้ดีให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เมื่อเทียบกับการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่เกษตรกรคุ้นเคยและทำมาก่อนนานแล้ว เช่น ข้าว พืชผลและพืชไร่อื่น ๆ อีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 เมษายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=195735&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า