เมื่อวันที่ 20 เมษายน 52
นายศุภชัย แตงสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกำลังระบาดในพื้นที่นาข้าว อำเภอเมือง อำเภอบางปลาม้าและอำเภอสองพี่น้องอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวไม่สมบูรณ์ โดยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลส์ ท่อน้ำอาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้ง ลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวกแห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียกอาการไหม้ นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นพาหนะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิกมาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกรน ต้นเตี้ย ใบสีเขียว แคบและสั้น ขอบใบแหว่งวิ่น และออกรวงไม่พ้นกาบใบธงหรือไม่ออกรวง
การป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 สุพรรณบุรี3 สุพรรณบุรี90 ปทุมธานี1 พิษณุโลก 2 ชัยนาท1 และชัยนาท2 ไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดู เมื่อตรวจพบสัดส่วนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยต่อมวนเขียวดูดไข่ ระหว่าง 6:1 - 8:1 ตัวอ่อนระยะ 1-2 เมื่อข้าวอายุ 30-45 วัน จำนวนมากกว่า 10 ตัวต่อต้นให้ใช้สารฆ่าแมลงบูโพรเฟชิน (แอปพลอด 10% WP ) หรือพ่น สารอีโทเฟนพรอกช์ (ทรีบอน 10% EC) หรือ มิพชัน 50% WP หรือ คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% EC) ในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวงเมื่อพบแมลงตัวเต็มวัยจำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อต้นใช้สารไธอมิโทแซม (แอกทารา 45% WG) หรือ ไดโนทีฟูแรน (สตาร์เกิล 15% WP หรือ แดนทอช (เดนทอิช 16% SG) อัตราการใช้ ตามคำแนะนำข้างขวดหรือซอง ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงที่ทำให้เกิดการเพิ่มระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล คือ สารกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น แอลฟาไซ เพอร์มิทริน ไซเพอร์มิทริน ไซแฮโลทริน เดดาเมทริน เอสเฟนแวเลอเรต เพอร์มิทริน ไตรอะโซฟอส ไซยาโนแฟนฟอส ไอโซซาไทออน ไฟริดาเฟนไทออน ควินาลฟอส และเตตระคลอร์วิน ฟอส เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 20 เมษายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=157829