เครื่องสาวไหม ควบตีเกลียว และกรอไจเส้นไหมในเครื่องเดียวกัน
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 52
เครื่องสาวไหม ควบตีเกลียว และกรอไจเส้นไหมในเครื่องเดียวกัน
สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (สมมช.) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประดิษฐ์เครื่องสาวไหม ควบตีเกลียวเส้นไหม และกรอไจเส้นไหมในเครื่องเดียวกันได้สำเร็จ เรียกว่า “เครื่องสาวไหมยูบี 3” เหมาะสมต่อกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงไหมครั้งละมาก ๆ ที่ไม่สามารถสาวไหมได้ทันก่อนผีเสื้อจะเจาะออกจากรัง เครื่องสาวไหมยูบี 3 นี้ สามารถสาวเส้นไหมได้รวดเร็วและมากกว่าการสาวด้วยมือแบบพื้นบ้านถึง 9 เท่า โดยน้ำหนักเส้นไหมเมื่อใช้เวลาสาวเท่ากัน เส้นไหมที่สาวได้จะถูกควบตีเกลียวและกรอเส้นไหมเป็นไจได้ในเครื่องเดียวกัน อีกด้วย ทำให้ได้เส้นไหมที่ดี มีคุณภาพและประหยัดเวลา
สถาบันหม่อนไหมฯ ได้ประดิษฐ์เครื่องสาวไหมยูบี 3 ที่สามารถผลิตเส้นไหมให้ได้คุณภาพดี มีความสม่ำเสมอและเหมาะสมทั้งขนาดและจำนวนเกลียวได้มาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตผ้าไหม ได้ประดิษฐ์เครื่องต้นแบบสำเร็จ และได้รับการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา เลขที่คำขอ 0701003035
นับเป็นเครื่องสาวไหมอเนกประสงค์ ด้วยสามารถใช้เป็นเครื่องสาวเส้นไหม ควบตีเกลียวเส้นไหม และกรอไจเส้นไหมได้ในเครื่องเดียวกัน อีกทั้งสามารถใช้สาวเส้นไหมจากรังไหมทั้งพันธุ์ไทยพื้นบ้านและพันธุ์ไทยปรับปรุง เรียกว่า เครื่องสาวไหมยูบี 3 โดยมีส่วนประกอบได้แก่ อ่างสาวไหม ขอเกี่ยวรวมเส้นไหม รอกสาวไหม 3 ตัว ตัวกระจายเส้นไหม อักสาว ชุดควบตีเกลียว และอักกรอไจไหม ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ขนาดครึ่งแรงม้า (0.5 แรงม้า) ความเร็วของอักสาว 140-430 รอบต่อนาที
โดยสามารถปรับให้เหมาะสมกับความชำนาญของพนักงานสาวไหม เมื่อใช้มู่เล่เพลาอักสาวขนาด 3 นิ้วและใช้มู่เล่เพลาขับขนาด 2.0, 2.5 และ 3.0 นิ้ว ให้ความเร็วรอบ 140, 170 และ 220 รอบต่อนาที เหมาะสำหรับการสาวไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน หรือใช้มู่เล่เพลาอักสาวขนาด 3 นิ้วและมู่เล่เพลาขับขนาด 2.5, 3.0 และ 3.5 นิ้ว ให้ความเร็วรอบ 170, 220 และ 270 รอบต่อนาที หรือเมื่อเปลี่ยนมาใช้มู่เล่เพลาอักสาวขนาด 2.5, 2 นิ้ว และมู่เล่เพลาขับขนาด 3.5 นิ้ว ให้ความเร็ว 340 และ 430 รอบต่อนาที ซึ่งเหมาะสำหรับการสาวไหมพันธุ์ไทยปรับปรุง เครื่องสามารถควบตีเกลียวได้ครั้งละ 1 แกนปั่น มีกระบวนการทำงานที่สะดวก การใส่กรงแกนปั่นยึดด้วยนอตมั่นคง การทำงานของส่วนควบตีเกลียว แยกจากส่วนสาวไหม โดยสามารถทำงานได้ 2 ลักษณะในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ทั้งสาวและควบตีเกลียว หรือ ทั้งสาวและกรอไจเส้นไหม
ลักษณะเด่นของเครื่องสาวไหมยูบี 3 คือ เป็นเครื่องสาวไหมควบตีเกลียว กรอไจเส้นไหมในเครื่องเดียวกัน เส้นไหมมีความสม่ำเสมอทั้งขนาดของเส้น และจำนวนเกลียวต่อเมตรสามารถสาวเส้นไหมจากรังไหมของไหมพันธุ์พื้นบ้านและพันธุ์ไทยปรับปรุง สามารถสาวเส้นไหมได้มากกว่าการสาวด้วยมือแบบพื้นบ้าน ประมาณ 9 เท่า โดยน้ำหนักเมื่อเปรียบเทียบเวลาการสาวเท่ากัน ลักษณะเส้นไหมที่สาวได้กลม มีการรวมตัวของเส้นไหมดีมาก ขนาดของเส้นไหมที่สาวได้สม่ำเสมอจากการควบคุมจำนวนรังไหมซึ่งทำได้ไม่ยาก สามารถตีเกลียวเส้นไหมหรือกรอไจเส้นไหมไปพร้อม ๆ กันได้ในขณะที่สาวไหม ได้จำนวนเกลียวประมาณ 238+5 เกลียวต่อเมตร จากการตีเกลียว 1 ครั้ง สม่ำเสมอตลอดความยาวของเส้นไหม ได้ไจไหมที่มีความยาวของเส้นรอบวงไจไหมเท่ากันคือ 1.50 เมตร จากการกรอไจเส้นไหมในแต่ละครั้ง เดินเครื่องทำงานได้คุ้มค่า แม้ปริมาณรังไหมมีจำนวนน้อย บำรุงรักษาง่าย ถอดประกอบเครื่องได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก วัสดุที่ใช้ประกอบเครื่องมีในท้องถิ่น หาได้ง่าย
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกษตรกลางบางเขน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2579-3118, 0-2579-5595 โทรสาร. 0-2940-6564
สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) โทร. 0-4421-4101 โทรสาร. 0-4421-4101 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯอุบลราชธานี โทร. 0-4524-5425 โทรสาร. 0-4542-6033.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=187267&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า