'เซงตะโลง' มะม่วงดีของพม่า
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 52
'เซงตะโลง' มะม่วงดีของพม่า
เมื่อพูดถึงความเก่าแก่ของการปลูกมะม่วงในโลกแล้ว “อินเดีย” นับเป็นประเทศที่มีประวัติความเป็นมาในการปลูกมะม่วงมานานกว่า 4,000 ปี ปัจจุบันมีข้อมูลทางวิชาการที่เขียนโดย คุณสุรชา สิทธิชัย ในงานประชุมมะม่วงโลกที่ประเทศบราซิล รายงานว่าปัจจุบันอินเดียยังเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกมะม่วงมากที่สุดในโลกคือมากกว่า 8 ล้านไร่ ให้ผลผลิตแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 11 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของผลผลิตมะม่วงทั่วโลก สำหรับสายพันธุ์มะม่วงของประเทศอินเดียที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในขณะนี้คือพันธุ์ “อัลฟอนโซ” คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคมะม่วงอินเดียสายพันธุ์นี้กันมากในรูปแบบของน้ำมะม่วงเนื่องจากมีกลิ่นหอมพิเศษ
สำหรับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยได้มีการพัฒนาการปลูกมะม่วงมาอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องสายพันธุ์และการจัดการดูแลรักษา จากที่ปลูกและผลิตขายบริโภคกันในประเทศ คนไทยส่วนใหญ่ในอดีตมักจะคุ้นเคยบริโภคมะม่วงกินดิบ อาทิ เขียวเสวย แรด ฟ้าลั่น เจ้าคุณทิพย์ ฯลฯ ในกลุ่มมะม่วงกินสุกจะรู้จักเฉพาะพันธุ์อกร่อง มาถึงทุกวันนี้มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ของไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกโดยน้ำดอกไม้สีทองที่มีการส่งออกไปยังหลายประเทศโดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น นอกจากประเทศไทยแล้วพม่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีพื้นที่ปลูกมะม่วงมากพอสมควร ผู้เขียนได้มีโอกาสไปประเทศพม่าเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตมะม่วงของพม่าเริ่มออกสู่ตลาดพอดีซึ่งตรงกับมะม่วงปีในบ้านเรา
ถ้าใครได้ไปเที่ยวยังประเทศพม่าจะได้เห็นความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนพม่าและผลไม้ที่มักจะพบเห็นอยู่มากคือ กล้วยและมะพร้าว เพราะเป็นผลไม้ที่คนพม่านิยมซื้อมาบูชาเทพ และกล้วยที่คนพม่านิยมบริโภคมากที่สุดคือกล้วยหักมุก (กล้วยหักมุก คนพม่าเรียกว่า “พีจาง”) สำหรับมะม่วงพม่ามีหลายสายพันธุ์คล้ายกับมะม่วงไทย อย่างเช่น มะม่วงพันธุ์หยิ่งกแว ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “อกแยก”
มีลักษณะรูปทรงผลคล้ายมะม่วงอกร่องแต่รสชาติสู้ไม่ได้ ในขณะเดียวกันพม่ามีพันธุ์มะม่วงที่มีชื่อเสียงและรสชาติดีอยู่สายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อว่าพันธุ์ “เซงตะโลง” ในช่วงที่ประเทศอินเดียปกครองประเทศพม่าจะเรียกมะม่วงสายพันธุ์นี้ว่า เซนทาโล ผู้เขียนได้ทดลองรับประทานมะม่วงพันธุ์เซงตะโลง จัดเป็นมะม่วงกินสุกที่รสชาติอร่อยพอใช้ได้ ผลไม่ใหญ่นักขนาดเท่ากับมะม่วงอกร่องและมีเนื้อละเอียดรสชาติใกล้เคียงมะม่วงแก้วผสมมะม่วงอกร่อง และเป็นมะม่วงที่มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากในแถบเมืองมัณฑะเลย์
การผลิตและการตลาดของมะม่วงในประเทศพม่าส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ยังไม่มีการผลิตเพื่อการส่งออกและเทคโนโลยีในการผลิตมะม่วงนอกฤดูยังตามหลังประเทศไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 เมษายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197131&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า