เลี้ยงปลาในกระชังมาตรฐานจีเอพี สร้างอาชีพอย่างมั่นคง
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 52
เลี้ยงปลาในกระชังมาตรฐานจีเอพี สร้างอาชีพอย่างมั่นคง
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนรู้ดีตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าปัจจุบันปลาจะถูกส่งเสริมให้มีการเลี้ยงในกระชังแล้วก็ตาม แต่เนื้อปลายังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเช่นเดิม เมื่อพูดถึงปลาแล้ว ปลาที่เกษตรกรเลี้ยงกันมากเพราะมีการส่งเสริมจากบริษัทเอกชนให้เกษตรกรเป็นผู้เลี้ยง ซึ่งนั่นก็คือปลาทับทิม
อยากรู้ว่าทำไมเขาเลี้ยงปลาทับทิมกัน เลี้ยงแล้วรวยหรือไม่ หรือมีแต่บริษัทเขารวย เมื่อมีคำถาม จึงเดินทางไปหาคำตอบ ณ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงปลาทับทิมให้ประสบความสำเร็จ จากเดิมที่เคยมีอาชีพรับจ้าง แต่มา ณ บัดเดี๋ยวนี้เขาทำมาหากินด้วยการเลี้ยงปลาทับทิมทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
มานะ อ่อนนิ่ม อายุ 31 ปี เกษตรกร หมู่ 6 ต.วังกะพี้ เจ้าของวาสนามานะฟาร์ม เล่าให้ฟังว่า ประมาณ 10 ปีก่อน เดิมมีอาชีพรับจ้าง มีเงินเดือนประมาณ 7,000 กว่าบาท แต่โดยส่วนตัวมีความสนใจเรื่องการเกษตรเป็นพิเศษ ก็มีการเลี้ยงปลาดุกควบคู่ไปด้วย ซึ่งมีรายได้จากการเลี้ยงปลาดุก 4,000 บาทต่อเดือน พอดีช่วงนั้นในพื้นที่ใกล้กันเริ่มมีคนเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ก็รู้สึกสนใจ อีกทั้งมีความพร้อมด้านสถานที่ด้วย เนื่องจากมีที่ดินติดแม่น้ำน่าน และอยู่ใต้เขื่อนสิริกิติ์ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ
มานะเริ่มเลี้ยงเมื่อปี 2543 เริ่มต้นด้วยจำนวน 4 กระชัง ปัจจุบันมีถึง 93 กระชัง (หากรวมกระชังที่เลี้ยงอยู่ที่บ้านด้วยก็ 120 กระชัง) ปลาที่เลี้ยงนอกจากปลาทับทิมแล้ว ยังมีปลากดหลวงอีกด้วย 10 กระชัง ทำไมต้องเลี้ยงปลากดด้วย มานะบอกว่า ปลากดมันกินปลาตายด้วย ให้ปลากดกินปลาทับทิมที่ตายดีกว่าทิ้งไปทำให้แม่น้ำเน่าเหม็นเปล่า ๆ ก็เลยต้อง เลี้ยงปลากดเพื่อให้กินปลาทับทิมที่ตาย ทำไม ปลาทับทิมที่เลี้ยงถึงมีตาย มานะให้เหตุผลที่คลาสสิก ของสมัยนี้มากเลยคือ เพราะ สภาวะโลกร้อน
มานะเล่าเรื่องราวความเป็นมาให้ฟังว่า เลี้ยงปลาดุกอยู่ปีหนึ่ง แล้วไม่ได้กำไรเลย พอดีได้รู้จักกับทางซีพีเอฟที่เข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงปลา ซึ่งมีเพื่อน ๆ เลี้ยงอยู่ด้วย ก็ตัดสินใจร่วมเลี้ยง ในส่วนของคนที่เลี้ยงต้อง คอยเอาใจใส่ ซึ่งผมจะให้ความสำคัญกับการจัดการต่าง ๆ ที่ได้รับคำแนะนำจากทางบริษัท และตัวแทนจำหน่ายที่จะคอยเข้ามาดูแลเราตลอดการเลี้ยง ทั้งวิธีการเลี้ยงและเทคนิคใหม่ ๆ รวมถึงการป้องกันโรคของปลา และช่วยจัดการด้านตลาด
สำหรับกระชังเลี้ยงปลารวม 93 กระชัง นี้ สามารถเลี้ยงปลาได้ 7,000 กิโลกรัมต่อเดือน โดยรับลูกพันธุ์ปลาที่มีขนาดประมาณ 30 กรัมต่อตัว จากผู้แทนจำหน่ายมาเลี้ยงเป็นเวลา 4 เดือน ก็จะได้ปลาขนาดประมาณ 700-800 กรัมต่อตัว ทำให้มานะมีรายได้ถึงเดือนละประมาณ 70,000 กว่าบาท อันเป็นกำไรล้วน ๆ ที่หักต้นทุนเรียบร้อยแล้ว
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ มานะ บอกว่า ใหม่ ๆ ก็ยากเหมือนกัน จะต้องศึกษาตลอด เพราะว่าสภาพน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะธรรมชาติ จึงไม่สามารถควบคุมได้
แต่ด้วยความใส่ใจกับการเลี้ยง และให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับอย่างเคร่งครัด ทำให้ผลผลิตของเขา (คือปลา) ได้รับใบรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี หรือ GAP (Good Aquaculture Practice in Aquatic Animal producing) จากกรมประมงด้วย
แม้ว่ามานะจะมีใบรับรองที่เปรียบเสมือนใบผ่านทางแล้ว เขายังคงมีโครงการที่จะพัฒนาการเลี้ยงที่สามารถลดความเสี่ยงจากธรรมชาติ ด้วยการเตรียมสร้างบ่อพีอี (สำหรับบ่อพีอีคือ บ่อ ดินที่ปูด้วยโพลีเอท ทีลีน-Polyethylene, PE) เพื่อเลี้ยงปลาด้วยเพื่อให้อาชีพนี้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ที่ทางบริษัทเขามาส่งเสริมให้เลี้ยงแบบพัฒนาเพราะปกติหากเลี้ยงในน้ำธรรมชาติ พอหน้าฝนเราจะเจอปัญหาเรื่องน้ำขุ่น น้ำแดง ส่งผลให้ปลาไม่โต ปลาโตช้าเราก็เลยมาจัดแบบปลา ในบ่อดินแบบพัฒนาเพราะเราสามารถควบคุมน้ำได้ หากเลี้ยงอยู่ในแม่น้ำ ธรรมชาติควบคุมเรา คำตอบออกไปในแนวปรัชญาเชียวนะนี่
สำหรับคนเห็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จ แล้วอยากจะเลี้ยงมั่งต้องทำอย่างไร มานะแนะว่า ต้องดูพื้นที่ มีทำเลที่เหมาะสม และต้องมีความอดทน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 เมษายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197351&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า