กะเทาะเปลือกข้าวลูกผสมทางเลือกของชาวนามืออาชีพ
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 52
กะเทาะเปลือกข้าวลูกผสมทางเลือกของชาวนามืออาชีพ
หากดูตัวเลขการผลิตข้าวทั่วโลกมีผลผลิตทั้งหมดราว 400 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ การส่งออกข้าวในตลาดโลกมีเพียง 30 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จในการส่งออกข้าวไปยังตลาดโลก ที่สามารถครองความเป็นหนึ่งมายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ จำนวนปีละกว่า 10 ล้านตัน
จากผลผลิตทั้งหมดในประเทศกว่า 30 ตัน อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่แล้ว ข้าวไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเทียบกับผู้ผลิตข้าวหลักของโลก เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ซึ่งจีนนั้นมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงกว่า 1,000 กก. เวียดนาม 778 กก. อินเดีย 512 กก. ในขณะที่ไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 430 กก.เท่านั้น
การที่ประเทศไทยได้ผลผลิตข้าวน้อย ส่งผลทำให้เกิดความไม่สมดุลเมื่อเทียบการลงทุนสูงกับผลผลิตที่ได้มา โดยสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดมาจากพันธุ์ข้าว ซึ่งประเทศไทยนั้นยังใช้ข้าวพันธุ์แท้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวแท้ ที่ใช้อยู่ในบ้านเราทุกวันนี้มาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ทั้งจีน เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมแล้ว 17 ประเทศทั่วโลก มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่แล้ว เป็น
พันธุ์ข้าวลูกผสม (Hybrid Rice)
สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการตื่นตัวและให้ความสนใจพันธุ์ข้าวลูกผสมมาบ้างแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมกับกรมการค้าข้าว กรมวิชาการเกษตร ไปโอเทค สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย จัดการเสวนาเรื่อง "สถานการณ์ข้าวลูกผสม และแนวโน้มในอนาคต" ที่ห้องประชุมบุหลันพิทักษ์พล ชั้น 3 อาคารสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มก. บางเขน โดยเน้นหัวข้อ "กะเทาะเปลือก ข้าวลูกผสม" ซึ่งทุกฝ่ายมองว่าพันธุ์ข้าวลูกผสมก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรมืออาชีพ เนื่องจากให้ผลผลิตที่สูง
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวในระหว่างเปิดงานว่าที่จริงประเทศไทย มีการนำเข้าพันธุ์ข้าวลูกผสมจากจีนมาทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2522 โดยกรมวิชาการเกษตร และปัจจุบันยังคงพัฒนาต่อไปโดยกรมการข้าว ในขณะที่ภาคเอกชนเริ่มนำพันธุ์ข้าวลูกผสมมาพัฒนา และเริ่มทดสอบทางการตลาดกันบ้างแล้ว เนื่องจากยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตข้าวของประเทศไทย ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์อย่างจริงจัง และพันธุ์ข้าวลูกผสมก็เป็นทางเลือกหนึ่งของประเทศไทย ผลการพัฒนาวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสมของกรมการข้าว คาดว่าภายในปี 2552 จะมีการจดทะเบียนพันธุ์ข้าวลูกผสมอย่าง 1 สายพันธุ์
ด้าน ดร.สุขนิยม ตาปราบ นักวิชาการเกษตร 8 ว. กรมการข้าว กล่าวว่า การพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมในเบื้องของไทย เน้นในการวิจัยเพื่อเรียนรู้มากกว่า ไม่ได้เน้นในการผลิตเพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกในนาข้าว เพราะช่วงแรกเราต้องยอมรับว่า นักวิจัยที่มีความชำนาญด้านยังขาดแคลนมีเพียง 5-6 เท่านั้น แต่ตอนนี้กรมการข้าวให้ความสำคัญด้านข้าวลูกผสม มีการตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นศูนย์วิจัยข้าวโดยตรง 10 แห่งทั่วประเทศ แต่นักวิจัยที่มีความชำนาญจริงกว่า 20 คน นอกจากเป็นนักวิชาการอีกส่วนหนึ่ง
"ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีพร้อมแล้วที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสม การวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสมของกรมการข้าวมีความคืบหน้ามากแล้ว ผลจากการทดลองในแปลงที่มีข้าวเป็นลักษณะของข้าวชนิดเดียวในพื้นที่เดียวกัน ได้ผลผลิตที่สูงกว่าราว 20-30% สมมติว่าข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ได้ 700-800 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวพันธุ์ลูกผสมได้ 1,000 กก.ขึ้นไป ผลจากการทดลองที่ได้ผลผลิตมากที่สุดคือ 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์อยู่ที่กิโลกรัมละ 106 บาท พื้นที่นา 1 ไร่ หากเป็นนาดำ หรือหว่านจะใช้ 6-8 กก. แต่ถ้าปลูกแบบโยนกล้าใช้เพียง 4.5 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ผลิตเพื่อขายหรือแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร จะรอให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์นิ่งอีกนิด คาดว่าจะได้จดทะเบียนพันธุ์ข้าวลูกผสมพันธุ์ใหม่ในปีนี้ จากนั้นกรมการข้าวจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรที่สนใจเพื่อผลิตพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เอง " ดร.สุขนิยม กล่าว
ส่วน นายวิชัย พูนพิริยะทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวในส่วนของ ซี.พี. ได้มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมเกือบ 10 ปีแล้ว ได้สายพันธุ์ลูกผสมพันธุ์แรกของประเทศไทย 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ "ซี.พี.304 เป็นข้าวขาวแข็ง และ ซี.พี. 357 ข้าวนิ่ม ผลทดลองในแปลงของบริษัทที่ฟาร์มกำแพงเพชร ได้ผลผลิตไร่ละ 1,500 กก. จากปกติข้าวไทยทั่วไปที่อยู่ในเขตชลประทานผลผลิตเฉลี่ยอยู่ 750 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปปลูกแล้ว 5 รุ่น ในเขต จ.กำแพงเพชร ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เคยมีสูงสุดของเกษตรกรใน จ.กำแพงเพชร 1,550 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นข้าว ซี.พี.304 ซึ่งมีอายุเก็บเกี่ยวเพียง 100-115 วันเท่านั้น
"ตอนนี้เราได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในเขตชลประทานกว่า 10 รายในพื้นที่ราว 3,000 ไร่ ปีหน้า (2553) จะขยายเป็นหมื่นไร่ เพราะเรามีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นแล้ว ในเบื้องช่วงโปรโมชั่นเราขายเมล็ดพันธุ์อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท หากหมดโปรโมชั่นแล้วอาจอยู่ที่ 150 บาท เพราะต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างสูง โดยผลผลิตทั้งหมด ซี.พี.จะรับซื้อในราคาที่รัฐบาลประกัน ซี.พี. เพราะก็มีโรงสีเป็นของตัวเองอยู่ที่กำแพงเพชร
เขากล่าวอีกว่า เมื่อข้าวพันธุ์ลูกผสมยังอยู่ชั้นเริ่มต้น ฉะนั้นเกษตรกรที่สนใจจะปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสมต้องค่อยเป็นค่อยไป ปลูกไปศึกษาไป เพราะข้าวลูกผสมนั้นเหมาะสำหรับชาวนามืออาชีพ คือเมื่อปลูกข้าวลูกผสมต้องยอมรับในเรื่องปุ๋ยด้วย ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าปลูกข้าวลูกผสมมีผลผลิตสูง อาจทำให้ล้นตลาดนั้น ปัจจุบันมีข้าวส่งออกที่หมุนเวียนในตลาดโลกปีละ 30 ล้านตัน คาดว่าในปี 2550 ความต้องการถึง 50-60 ล้านตัน ขณะที่พื้นที่การเกษตรนับวันจะน้อยลง เพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้น
ขณะที่ ดร.เกรียงศักดิ์ สุวรรณธราดล ที่ปรึกษาสมาคมปรับปรุงและขยาพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเมื่อประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นในการสนับสนุนพัฒนาวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสม ฉะนั้นขอฝากให้ภาครัฐเดินหน้าต่อไป จะเพิ่งคิดว่าจะถ่ายทอดให้เกษตรกรและปล่อยให้ภาคเอกชนเดินหน้าเอง นอกจากนี้เมื่อข้าวลูกผสมมีผลผลิตสูงหน้าที่ของรัฐบาลต้องแสวงหาตลาดให้เพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้ประเทศที่ต้องการยังมีอีกมากแต่ยังไม่ได้เจาะตลาด จะเห็นว่าตอนนี้เวียดนาม อินเดีย ส่งออกข้าวหมดแล้ว ฉะนั้นเรื่องตลาดไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป
หากประเมินกันตรงนี้ พอจะมองได้ว่า ข้าวพันธุ์ลูกผสมนั้นก็เป็นอีกทางหนึ่งของชาวนา แต่ทั้งนี้ควรศึกษาให้รอบคอบก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนและตลาดในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 27 เมษายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090427/10642/กะเทาะเปลือกข้าวลูกผสมทางเลือกของชาวนามืออาชีพ.html
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า