เดินหน้าโครงการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร คัดเลือกเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาดีเด่น
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 52
เดินหน้าโครงการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร คัดเลือกเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาดีเด่น
โดยทั่วไปช่วงหน้าแล้งหรือหลังเก็บเกี่ยวข้าว จะพบว่ามีการเผาตอซัง ฟางข้าวและเศษพืชที่เหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดิน ทำลายอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน โดยเฉพาะการเผาฟางข้าวจะทำให้สูญเสียธาตุไนโตรเจน 6-9 กก.ต่อไร่ ฟอสฟอรัส 0.8 กก.ต่อไร่ โพแทสเซียม 15.6 กก.ต่อไร่ และทำลายโครงสร้างดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โครงสร้าง ดินเกิดการอัดแน่นเสียหายมีการอิ่มตัวของน้ำเร็วขึ้น เก็บน้ำได้น้อยไม่ทนแล้ง การระบายน้ำไม่ดี ช่องว่างของอากาศไม่เพียงพอ ดินแข็งมากขึ้นไถเตรียมดินได้ตื้นขึ้น หน้าดินน้อยลงและรากพืชแทงทะลุได้ยากขึ้น ในที่สุดการเจริญเติบโตของพืชไม่เต็มที่ทำให้ผลผลิตลดต่ำลงในที่สุด
ที่สำคัญเป็นการทำลายแมลงควบคุมศัตรูพืช และจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินทำให้ปริมาณของจุลินทรีย์ลดลง เช่น การเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนที่พืชใช้ประโยชน์ได้ การแปรสภาพอินทรีย์ฟอสฟอรัสให้อยู่ในรูปของฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ และการย่อยสลายอินทรีย์สารเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน นอกจากนั้นตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืชและจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมโรคพืชถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งหากระบบนิเวศของดินไม่สมดุลเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคพืชได้ง่ายขึ้น
และก่อให้เกิดเขม่าควันฝุ่นละอองก๊าซพิษส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของธรรมชาติในวงกว้าง จากการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้พบว่า หากมีการเผาฟางข้าวปีละครั้งทั่วประเทศในพื้นที่ 60 ล้านไร่ ก็จะก่อให้เกิดการปลด ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 27 ล้านกิโลกรัมคาร์บอน การปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจน 462 ล้านกิโลกรัม ไนโตรเจน ฝุ่นละออง 100-700 ล้านกิโลกรัมต่อไร่ ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก สาเหตุของการทำให้โลกร้อนและเกิดภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงมากขึ้น และจากเหตุผลดังกล่าว ตลอดมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้พยายามที่จะรณรงค์เพื่อให้มีการลดการเผาตอซังกันอย่างต่อเนื่อง
และล่าสุดจากการเปิดเผยของ นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ว่า ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดโครงการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่งเพื่อใช้เป็นกรอบแผนงานและยุทธศาสตร์ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ได้เข้าไปสร้างความรู้ ความเข้าใจและส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา เพื่อใช้เป็นกลไกในการให้เกษตรกรลดการเผาเศษพืชในไร่นา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผาเป็นการไถกลบซากพืชแทน ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากเศษวัชพืช เศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรให้มีประโยชน์สูงสุด
“การเผาซากพืช ซากเศษวัสดุในไร่นาของเกษตรกร นอกจากจะเป็นที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรแล้วยังสร้างปัญหาฝุ่นควันมลพิษให้กับชุมชน และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาในเรื่องของการจราจรเพราะควันไฟนั้นไปบดบังวิสัยทัศน์ในการขับขี่ยวดยานพาหนะ ดังนั้นโครงการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อคัดเลือกเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาดีเด่นนั้น จะเป็นการยกย่องและสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร เพื่อเผยแพร่ผลงานและความสำเร็จสู่สาธารณชน ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางในการขยายผลการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรต่อไปอีกด้วย” นายอรรถ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
สำหรับการคัดเลือกเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาดีเด่นนั้น จะแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยระดับจังหวัดจะมีตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรที่ได้รับรางวัลจังหวัดละ 1 กลุ่ม ส่วนระดับประเทศนั้นจะมีการคัดเลือกจากตัวแทนที่ได้รับรางวัลของแต่ละจังหวัดมาคัดเลือกเป็นเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาดีเด่นระดับประเทศจำนวน 3 รางวัล ซึ่งคุณสมบัติของแต่ละกลุ่มเกษตรกรที่จะเข้าร่วมประกวดจะต้องมีการจัดตั้งกลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี มีผลงานในด้านการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถตรวจสอบได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 เมษายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197686&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า