เก็บดอกรักขายพืชทำเงิน แต่ต้องระวังยาง
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 52
เก็บดอกรักขายพืชทำเงิน แต่ต้องระวังยาง
"
ดอกรัก” หรือในบางท้องถิ่นเรียกปอเถื่อน, ปั๋นเถื่อน ที่มักพบตามที่ว่างริมทางหรือหัวไร่ปลายนาที่มีแดดจัด พบทั้งดอกสีขาว และสีม่วง โดยการใช้ประโยชน์จากดอกรักนั้น มีความผูกพันมากับขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยมานานเช่นเดียวกับชื่อที่เป็นไม้นามมงคลมีความหมายถึงความรัก ดังจะพบว่าดอกรักจะถูกนำมาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ เช่น มาร้อยทำอุบะมาลัย หรือ ร้อยมาลัยทำเครื่องมงคลถวายพระ หรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีสำคัญ แม้กระทั่งใบต้นรักเองยังถูกมารองในขันสินสอด และขันเงินในพิธีแต่งงาน
อย่างการปลูกต้นรักเพื่อเก็บดอกรักจำหน่ายเป็นการค้านั้น หลายท่านอาจจะเข้าใจว่า “ดอกรัก” ที่นำมาร้อยมาลัยนั้นเป็นสายพันธุ์ที่เราเห็นขึ้นตามริมถนน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “รักแก้ว” ดอกจะมีลักษณะอ้วน ป้อม ดอกเล็ก และมีน้ำหนักน้อย ไม่เป็นที่นิยมของตลาดร้อยมาลัย เช่นเดียวกับดอกรักสีม่วง แต่ตลาดจะมีความนิยมใช้ดอกรักสีขาวพันธุ์ “จิ้งจก” ซึ่งลักษณะของดอกตูมจะดูคล้ายกับปากจิ้งจก ดอกจะมีสีขาวใส มันวาว ทรงดอกยาวใหญ่ และมีน้ำหนักคล้ายกับดอกรักที่ทำมาจากพลาสติก เกษตรกรเก็บดอกรักจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 10-300 บาท
ซึ่งราคาจะแพงในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันพ่อ วันแม่ วันเข้าพรรษา วันมาฆบูชา แล้วราคาจะสูงมากในช่วงฤดูหนาวราวเดือนตุลาคม-มกราคมของทุกปี ดอกรักจะมีราคาสูงมาก เพราะเป็นช่วงต้นรักจะให้ดอกน้อย การขยายพันธุ์ต้นรักที่นิยม คือ การปักชำด้วยกิ่ง โดยตัดกิ่งต้นรักให้มีความยาวราว 30-40 เซนติเมตร ขุดหลุมปลูกกว้าง, ยาวและลึก 30 เซนติเมตร จากนั้นวางท่อนพันธุ์ให้เฉียง 45 องศา ราว 3-5 กิ่ง โดยจะปลูกระยะ 3x3 เมตร ควรปลูกในช่วงฤดูฝนราว 2-3 เดือน ต้นรักก็จะสามารถเก็บดอกจำหน่ายได้ เกษตรกรที่มีความชำนาญในช่วงเช้าในแต่ละวันจะสามารถเก็บดอกรักได้ราว 3-5 กิโลกรัม
การเก็บดอกรักควรระวังยาง เนื่องจากยางของต้นรักเป็นเอนไซม์ประเภทหนึ่งจะค่อนข้างเป็นอันตรายมีฤทธิ์กัดกร่อน หากถูกผิวหนังหรือเข้าปากก็จะทำให้ระคายเคือง แสบคัน มีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียนและถ่ายอย่างแรง หากถูกศีรษะก็จะทำให้ผมร่วงได้ หรือ หากยางกระเด็ดเข้าตา จะทำให้ตาพร่ามัวหรือตาบอดได้จึงต้องระวังอย่างยิ่ง หากโดนยางของต้นรักบริเวณผิวหนังต้องรีบล้างด้วยน้ำสะอาดโดยทันที หากยางเข้าตาหลังจากล้างน้ำแล้วให้รีบไปพบแพทย์ ในการป้องกันยางต้นรักสำหรับเกษตรนั้นจะต้องแต่งกายให้มิดชิด ใส่แว่นตา สวมหมวก ใส่ถุงมือ เช่น อาจจะใช้ถุงหิ้วพลาสติกแทนถุงมือ และอาจจะนำลูกโป่งมาใส่นิ้วมือแทนปลอกนิ้ว เป็นต้น เพื่อให้ปลอดภัยจากยางต้นรัก
ในทางประโยชน์ด้านสมุนไพรนั้น ตำรา ยาแผนโบราณจะใช้ ดอก แก้ไอ แก้หืด เปลือกต้น ทำให้อาเจียน เปลือกราก แก้บิด ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน ยาง ยาถ่ายอย่างแรง แก้ปวดฟัน ปวดหู ขับพยาธิ แก้กลากเกลื้อน แต่อย่างไรควรศึกษาวิธีการใช้จากผู้รู้ให้ดีเสียก่อน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197792&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า