กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนด 3 มาตรการหลักแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระบาด
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 52
กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนด 3 มาตรการหลักแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระบาด
สืบเนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเพิ่มมากขึ้น สาเหตุก็มาจากการเคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์ จากแหล่งที่มีเพลี้ยแป้งเข้าทำลายอยู่แล้ว ประกอบกับอากาศร้อน ฝนทิ้งช่วง จึงทำให้มีการแพร่ระบาดออกไปกว้างขวาง และทำความเสียหายได้ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว หากไม่มีการจัดการที่ดีอาจจะระบาดไปในพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด นายอรรถ อินท ลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์และสถานการณ์ล่าสุดของการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้กับ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับทราบแล้ว และรัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยจัดให้มีการรณรงค์เพื่อกำจัดโดยด่วนที่สุดและอย่างต่อเนื่องในทุกวิถีทาง เพื่อขจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้หมดไป โดยเฉพาะการตัดวงจรการแพร่กระจายของเพลี้ย
และเนื่องจากได้มีการระบาดในทุกระดับการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง 3 มาตรการหลักด้วยกันประกอบด้วย 1. การป้องกันไม่ให้เพลี้ยแป้งกระจายไปสู่แหล่งปลูกอื่น ๆ 2. กำจัดเพลี้ยแป้งในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด และ 3. ให้การช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่เสียหายอันเกิดมาจากเพลี้ยแป้งระบาด
โดยห้ามมีการเคลื่อนย้าย กิ่งพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดไปสู่แหล่งอื่น ๆ ให้ทำการเผาทำลายกิ่งพันธุ์ ในแหล่งที่มีการระบาดเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้าย และให้ทำการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูก
ส่วนการกำจัดในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดนั้น หากมีการระบาดในมันสำปะหลังช่วงอายุ 1-4 เดือน ให้เผาทำลายต้นมันสำปะหลังทั้งหมด อายุ 5-8 เดือน ให้กำจัดโดยวิธีชีววิธีร่วมกับสารเคมี ได้แก่ การฉีดพ่นเชื้อรา บิวเวอเรีย ร่วมกับสารเคมี ส่วนอายุที่มากกว่า 8 เดือน ให้รีบเก็บเกี่ยวหรือเผาทำลายต้นมันสำปะหลังในแปลงทั้งหมด
ส่วนการช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่ที่เสียหายไปแล้วนั้น ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งสำรวจความเสียหาย และพิจารณาความช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร และจัดหาพืชอื่นเพื่อปลูกทดแทนในพื้นที่ที่เสียหายเพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยอย่างเด็ดขาดต่อไป
“ในจังหวัดที่มีการระบาด จะมีการจัดตั้งคณะทำงานที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนั้น ๆ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประกาศ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และขอความช่วยเหลือเร่งด่วนจากผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ ต่อไป และตอนนี้ได้มีการจัดเตรียมกำลังพลที่เกี่ยวข้องซึ่งมีประมาณ 280 คน โดยจัดให้มีการประชุมทำความเข้าใจในการดำเนินงานตามนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ สั่งการมา ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา ที่มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย” นายอรรถ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
นอกจากนี้หน้าที่ของกำลังพลที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้จะเข้าไปพบปะเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เพื่อติดตามการระบาด และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งและชี้แจงผ่านสื่อในท้องถิ่นและส่วนกลางเพื่อเตือนภัยให้กับเกษตรกรได้รับทราบกันอย่างทั่วถึงและทันการ
ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะมีการเตรียมท่อนพันธุ์ไว้สนับสนุนเกษตรกร เนื่องจากการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระบาดจะทำให้เกิดการขาดแคลนท่อนพันธุ์ ทั้งนี้จะเตรียมท่อนพันธุ์ที่เป็นท่อนพันธุ์ที่เพาะขยายขึ้นมาจากการใช้เนื้อเยื่อหรือพันธุ์ตัดเป็นข้อชำถุง เพื่อนำไปขยายในแปลงพันธุ์ต่อไป ควบคู่กับการจัดทำโครงการการรณรงค์การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำหรับเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังนั้น ในตัวเต็มวัยตัวเมียมีขนาดลำตัวประมาณ 3 มม. สีเหลืองอ่อน ลักษณะอ้วนสั้นมีผงสีขาวปกคลุมลำตัว วางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 100-200 ฟอง ตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ 600-800 ฟอง ในเวลา 14 วัน ไข่จะฟักอยู่ในถุงใต้ท้องตัวเมียประมาณ 6-10 วัน จึงจะออกเป็นตัวอ่อน มีสีเหลืองและยังไม่มีผงสีขาว จะคลานออกจากกลุ่มไข่หาที่เหมาะสมที่จะกินอยู่ ตัวเมียจะมีการลอกคราบ 3 ครั้ง และไม่มีปีก ส่วนตัวผู้จะลอกคราบ 4 ครั้ง มีปีกแต่จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ตัวเมียจะวางไข่ภายหลังจากการลอกคราบครั้งที่ 3 ภายในเวลา 1 ปี เพลี้ยแป้งสามารถขยายพันธุ์ได้ในระยะที่ไม่มีพืชอาหารหลัก เพลี้ยแป้งจะอาศัยอยู่ใต้ดินตามรากพืช เช่น รากหญ้าแห้วหมู โดยมีมดซึ่งอาศัยกินสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยแป้งเป็นพาหะนำไป
เพลี้ยแป้งจะดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนของลำต้น ใบ และกาบใบ มันสำปะหลัง ทำให้ใบเป็นสีเหลือง ลำต้นเล็ก แคระแกร็นไม่เจริญเติบโต และแห้งตายในที่สุด โดยเพลี้ยแป้งจะย้ายไปทำลายมันสำปะหลังต้นข้าง ๆ ต่อไป ทำให้มันสำปะหลังตายเป็นหย่อม ๆ เป็นรูปแอ่ง กระทะถ้าเป็นมากจะขยายจนเต็มพื้นที่ปลูก นอกจากนั้นยังขับถ่ายมูลหวานทำให้เป็นตัวดึงดูดราดำ ซึ่งมักพบในระยะฝนทิ้งช่วง หรืออากาศแห้งแล้งอีกด้วย
เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังและพบกับการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังติดต่อขอความช่วยเหลือหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่เพาะปลูก.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197793&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า