จัดงาน 'ไหมไทย สายใยแห่งแผ่นดิน' ไหมไทยเริ่มโกอินเตอร์ ตั้งต้นที่ปารีส
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 52
จัดงาน 'ไหมไทย สายใยแห่งแผ่นดิน' ไหมไทยเริ่มโกอินเตอร์ ตั้งต้นที่ปารีส
ผ้าไหมไทย ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีคุณลักษณะที่ดี และเอกลักษณ์เฉพาะแสดงถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาคของประเทศผ่านลายบนผืนผ้าที่มีการถักทอประสาน บ่งบอกถึงวัฒนธรรมที่มาอย่างวิจิตรบรรจง
แต่ดั้งเดิมมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้ดีขึ้น เนื่องจากเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ล่วงเลยมาถึงปี 2533 ผู้เชี่ยวชาญด้านไหมจากประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อให้ความรู้และแนวทางในการพัฒนาคุณภาพไหมไทย นำไปสู่การพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ให้กับคนไทย
จวบจนปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นคุณค่าบนผืนผ้าไหมไทย และให้ความสนพระราชหฤทัยในการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าตามสมัยนิยม จึงได้มีพระราชดำริส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรอย่างแพร่หลาย และทรงเผยแพร่ผ้าไหมไทยให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
ในโอกาสนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ องค์การยูเนสโก จัดงาน “ไหมไทย สายใยแห่งแผ่นดิน” (Thai Silk: Culture Heritage) ณ อาคารสำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2552
นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวง เกษตรฯ เปิดเผยว่า การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมผ้าไหมของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการจัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่การผลิตเส้นไหมไปจนถึงการนำมาทอเป็นผ้าไหม ซึ่งได้แทรกวัฒนธรรมพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาคลงไปบนลายผืนผ้าไหม บ่งบอกถึงวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่ของประเทศไทย และมีการจัดแสดงชุดฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศิลปาชีพฯ อาทิ เครื่องจักสานย่านลิเภา เครื่องเงิน เครื่องถมทอง และผ้าไหมปักซึ่งเป็นผลงานของทางจังหวัดชายแดนในภาคใต้ ทั้งนี้ มีการสาธิตการทอผ้าไหมที่มีลวดลายแตกต่างกันด้วยกี่ทอผ้า 4 ชนิด และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานที่สนใจได้ทดลองทอผ้าอีกด้วย
นอกจากนั้น ในการจัดงานแสดงผ้าไหมไทยในครั้งนี้ ถือว่ามีความพิเศษกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากโดยปกติแล้วองค์การยูเนสโกได้เชิญประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมจัดงานแสดง ซึ่งจะเน้นเฉพาะในเรื่องการแสดงศิลปวัฒนธรรม แต่ในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ประเทศไทยนำภาคเอกชนเข้าไปแสดงงานร่วมกับภาครัฐได้ ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจาทางการค้า โดยในการเดินทางไปครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญภาคเอกชนที่ผลิตผ้าไหม 14 บริษัทเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยได้ถือโอกาสเปิดเว็บไซต์ เพื่อแสดงถึงที่มาที่ไปของผ้าไหมไทย รวมทั้งมีการเปิดห้องเจรจาซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน นายประทีป มีศิลป์ ผอ.สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไฮไลต์ของการจัดงานในครั้งนี้ คือ การรับรองมาตรฐานผ้าไหมไทยภายใต้เครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทาน 4 ชนิด โดยประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้านสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) เป็นรายแรกของโลก ซึ่งผ้าไหมตรานกยูงดังกล่าว ได้นำเข้าไปใช้ใน 33 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศอังกฤษ และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ อียู 22 ประเทศ นอกจากนี้ในแถบประเทศเอเชีย ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับการสัมมนาได้รับความร่วมมือจากบริษัทจิม ทอมป์สัน และหลุยส์ วิต ตอง ในการจัดเสวนาเรื่องเทรนด์ผ้าไหมไทย และการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมไทยด้วยนางแบบไทย และต่างชาติ
ทั้งนี้ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูง 4 ประเภท มีความสำคัญในระดับเดียวกัน แตกต่างตรงที่กระบวนการผลิต ได้แก่ นกยูงสีทอง เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านและวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นฐานดั้งเดิมของไทย ในส่วนของ นกยูงสีเงิน ผลิตจากผ้าไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุง ซึ่งยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตบางขั้นตอน สำหรับ นกยูงสีน้ำเงิน เป็นผ้าไหมไทยแท้ที่มีการผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ และ นกยูงสีเขียว เป็นกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยในด้านลวดลายและสีสัน ระหว่างเส้นใยแท้กับเส้นใยอื่น ๆ ที่มาจากธรรมชาติ หรือ เส้นใยสังเคราะห์ รูปแบบต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งานหรือตามความต้องการของผู้บริโภค
ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประมาณ 193,500 ราย มีพื้นที่ปลูกหม่อน 218,000 ไร่ และมี แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมทอผ้าไหมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชนบทไทยเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละปีผ้าไหมไทยและผลิตภัณฑ์ไหมต่าง ๆ มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งสร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 900-1,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ตลาดผ้าไหมในกลุ่มนักท่องเที่ยว ยังเป็นอีกตลาดหนึ่งที่สำคัญทำให้สามารถจำหน่ายได้ปีละ 3,000 ล้านบาท เชื่อว่าจากการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นอีกทาง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197998&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า