'ยางพารา' ไม่เศรษฐกิจ ลดโลกร้อน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 52
'ยางพารา' ไม่เศรษฐกิจ ลดโลกร้อน
นอกจาก “
ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกสูง สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึงปีละ 1.48-2.05 แสนล้านบาทแล้ว ยางพารายังเป็นไม้ปลูกที่มีส่วนช่วยลด “ภาวะโลกร้อน” ได้อีกด้วย โดยมีประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าชเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่าระบบของไม้ป่าเขตร้อน สวนยางพาราช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร? จริงหรือไม่? กรมวิชาการเกษตรมีข้อมูลยืนยัน
นายจิรากร โกศัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่ช่วยสนับสนุนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศที่เหลืออยู่ประมาณร้อยละ 30 ทั้งยังเป็นพืชอนุรักษ์ดินและน้ำที่สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยของศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา พบว่าต้นยางพาราสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 1.72 เมตริกตัน/ไร่/ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางกว่า 14.35 ล้านไร่ คาดว่าจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละไม่น้อยกว่า 16.54 ล้านเมตริกตัน
ขณะเดียวกันยังพบว่า ยางพาราสามารถสร้างมวลชีวภาพไม่น้อยกว่า 5.68 เมตริกตัน/ไร่/ปี ทิ้งเศษซากใบและเศษไม้เป็นแร่ธาตุหมุนเวียนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.12 เมตริกตัน/ไร่/ปี และการที่มีระบบปลูกพืชเป็นแถวขวางแนวการลาดเทของพื้นที่ สามารถช่วยป้องกันการไหลเซาะพังของดินโดยเฉพาะสภาพพื้นที่มีความลาดเอียงและลาดชันที่ปลูกยางแบบขั้นบันได จะช่วยลดปัญหาการพังทลายของดินได้ นอกจากนี้ยางพารายังเป็นพืชปลูกที่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีป้องกันกำจัดโรค แมลงและวัชพืชน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับไม้เศรษฐกิจชนิดอื่น ถือเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต
ด้าน นายอารักษ์ จันทุมา นักวิชาการเกษตร ระดับชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกยางพาราถือเป็นการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากธรรมชาติ และถูกเก็บไว้ในต้นยางเพื่อสร้างผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้เพราะตลอดอายุปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่น้อยกว่า 25 ปี จากงานวิจัยพบว่า ลำต้นยางพาราอายุ 9 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 8.3 เมตริกตัน/ไร่ ลำต้นยางอายุ 12 ปี เก็บคาร์บอนได้ 10.9 เมตริกตัน/ไร่ อายุ 18 ปี เก็บคาร์บอนได้ 15.2 เมตริกตัน/ไร่ และลำต้นยางอายุ 25 ปี เก็บคาร์บอนได้ 22 เมตริกตัน/ไร่
ขณะที่สวนยางพาราอายุ 25 ปี ช่วยเก็บสารคาร์บอนได้ 43 เมตริกตัน/ไร่ และให้มวลชีวภาพได้ประมาณ 49 เมตริกตัน/ไร่ เมื่อนำยางพาราไปผลิตยางล้อรถยนต์และนำไม้ยางพาราไปทำเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น ถือเป็นการยืดเวลาการคืนสารคาร์บอนสู่บรรยากาศได้นานนับสิบปีด้วย
ส่วนสวนยางอายุน้อยหรือสวนยางอ่อนที่มีการปลูกพืชคลุมดิน พืชตระกูลถั่ว ที่มีระบบรากสามารถตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ประหยัดพลังงานในการผลิตและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใส่ปุ๋ยเคมีได้ หากเกษตรกรมีการปลูกพืชแซมและพืชร่วมระหว่างแถวต้นยาง เช่น ข้าว พืชไร่ พืชผักต่าง ๆ อาทิ ผักพื้นบ้าน ผักเหลียง ผักหวาน หวาย สละ ระกำ ไพล กะวาน ดีปลี ย่านาง ขิง ข่า และไม้ดอกไม้ประดับ เช่น หน้าวัว ดาหลา และกล้วยไม้ รวมทั้งการปลูกแฝก นอกจากจะช่วยเก็บรักษาความชื้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน และป้องกันการชะล้างของหน้าดินแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมอีกด้วย
ยางพาราเป็นพลาสติกธรรมชาติที่ผลิตจากพืช มีกระบวนการผลิตที่สะอาดประหยัดพลังงาน 7-10 เท่า น้อยกว่าการผลิตยางเทียมพลาสติกสังเคราะห์ที่ได้จากฟอสซิล น้ำมันดิบ โดยยางธรรมชาติใช้พลังงานผลิต 16 จิกกะจูลล์/เมตริกตัน ขณะที่ยางสังเคราะห์ใช้พลังงานผลิต 110-174 จิกกะจูลล์/เมตริกตัน ขณะที่การผลิตยางแผ่นดิบใช้กรดอินทรีย์ เช่น กรดฟอร์มิค หรือกรดน้ำส้มสายชู ทำให้ยางจับตัวและของเสียที่เหลือจากการทำยางแผ่นมีปริมาณไม่มากเทียบเท่ากับของเสียที่ทิ้งจากการซักล้างในครัว
นี่เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของสวนยางพาราแบบ 2 คุณค่าทั้งสร้างรายได้แถมรักษ์สิ่งแวดล้อม งานนี้ เกษตรกรยิ้มแป้นเลย เพราะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนแบบไม่รู้ตัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=198743&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า