วิธีป้องกันและกำจัด 'เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง' ที่ระบาดอย่างแรง
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 52
วิธีป้องกันและกำจัด 'เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง' ที่ระบาดอย่างแรง
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากไนจีเรียและบราซิล แต่ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุด การปลูกมันสำปะหลังในอดีตไม่พบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานและปรับตัวได้ดี แต่จากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันทำให้เริ่มประสบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช ซึ่งเดิมอาจจะพบอยู่แล้วแต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ
ต้นปี 2551 พบการระบาดของ
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง จำนวน 2 ชนิด ชนิดแรก คือเพลี้ยแป้งลาย ซึ่งพบระบาดทั่วไปแต่ยังไม่เคยสร้างปัญหารุนแรงต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ส่วนเพลี้ยแป้งอีกชนิดหนึ่งไม่เคยมีรายงานพบการระบาดในมันสำปะหลังมาก่อน แต่พบการทำลายเสียหายรุนแรงกว่าชนิดแรก
เดือนเมษายน 2551 เกษตรกรได้แจ้งเรื่อง ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลังที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ให้คำแนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังปัจจุบันพบการระบาดมีแนวโน้มขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายจังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา และกำแพงเพชร โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาพบมีพื้นที่การระบาดมากที่สุดประมาณ 300,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้รับการแจ้งจากเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรีว่าพบการระบาดของเพลี้ยแป้งแต่สถานการณ์ยังอยู่ในขั้นไม่รุนแรง
สาเหตุการระบาดของเพลี้ยแป้งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันมีส่วนทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดขยายวงกว้างขึ้นเกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกและมีการใช้ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังที่มีไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเพลี้ยแป้งติดไปกับท่อนพันธุ์ จากนั้นหลังปลูกจะมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งกระจายไปสู่ต้นมันสำปะหลังอื่นและแปลงข้างเคียง
มีรายงานว่าในประเทศแถบแอฟริกาและ อเมริกาใต้การระบาดของเพลี้ยแป้งทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง 20-80 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของประเทศไทยพบว่าในหลายพื้นที่ที่พบการระบาดขณะต้นยังเล็กมีความรุนแรงจนต้องไถทิ้งและปลูกใหม่แต่ก็ยังระบาดซ้ำอีก เนื่องจากยังมีเพลี้ยแป้งอยู่บนเศษซากต้น และมีการระบาดที่แปลงข้างเคียง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ปลูก 1 ไร่ต้องใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 500 ต้นรวมทั้งเกษตรกรต้องพ่นสารกำจัดแมลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งค่าสารป้องกันแมลงและค่าแรงงานพ่น
การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งให้ได้ผลต้องใช้วิธีการผสมผสาน ดังนี้ 1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล
- ควรมีการไถและพรวนดินหลาย ๆ ครั้งและตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพื่อลดปริมาณเพลี้ย แป้ง
- ควรปลูกต้นฤดูฝนเพื่อให้มันสำปะหลัง แข็งแรง ทนทานต่อการทำลายของเพลี้ยแป้ง
- คัดเลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง และควรใช้พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำ
- แหล่งที่ยังไม่พบการระบาด ควรมีการแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมากับท่อนพันธุ์
- ถอนต้นหรือตัดส่วนของต้นมันสำปะ หลังที่มีเพลี้ยแป้งจำนวนมากออกจากแปลงแล้วเผา หรือทำลาย
2. การใช้ชีววิธี เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ ได้แก่ ด้วงเต่า และแมลงช้างปีกใส
3. การใช้สารฆ่าแมลง ควรใช้เมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งรุนแรงเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องพ่นทั้งแปลง ควรพ่นเฉพาะบริเวณที่พบเพลี้ยแป้ง ระยะพ่นที่เหมาะสม คือ ช่วงที่เพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1-2
สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ - ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
- ไดโนทีฟูเรน 10% WP อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
- โปรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 มล./น้ำ 20 ลิตร
- พิริมิฟอสเมทิล 50% EC อัตรา 50 มล./น้ำ 20 ลิตร
- ไทอะมีโทแซม/แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 24.7% ZC อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร
หวังว่าเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังคงกำจัดเพลี้ยที่กำลังเป็นปัญหานี้ได้เมื่อทำตามคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด ขอให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=198846&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า