16 พ.ค.-15 ก.ย. 52 คุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 52
16 พ.ค.-15 ก.ย. 52 คุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ
กรมประมงได้ดำเนินนโยบายในการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ ด้วยการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้วยการควบคุมเครื่องมือทำการประมง การดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในช่วงฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อน รวมไปถึงการปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนได้ตระหนักและเข้าใจถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อรักษาไว้ใช้อย่างยั่งยืนต่อไปอย่างต่อเนื่องมาทุกปี
พร้อมกันนี้ทางกรมประมงยังได้ดำเนินการควบคุม ป้องกัน ตรวจติดตามและเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในพื้นที่น้ำจืดไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านไร่ ในแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำ ในท้องถิ่นของตนเอง โดยการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และอาสาสมัครอนุรักษ์สัตว์น้ำ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่กรมประมงในการดูแล และแจ้งเบาะแสการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกรมประมงได้เข้าไปดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำประมงอย่างถูกต้อง
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า แม้ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่สามารถเกิดทดแทนได้ใหม่ในเวลาอันรวดเร็วก็ตาม แต่ถ้ามีการใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างมาก จนเกินสมดุลที่ธรรมชาติจะผลิตได้ทัน ทรัพยากรก็สามารถลดน้อยลงจนหมดไปได้ในที่สุดเช่นกัน ฉะนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในปริมาณพอสมควรที่ธรรมชาติสร้างขึ้นทดแทนได้ ก็จะส่งผลให้ผลผลิตของทรัพยากรสัตว์น้ำคงอยู่คู่กับแหล่งน้ำสืบไป
“การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และยาวนานนั้นสามารถ ทำได้หลายวิธี อาทิ การดูแลแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำในธรรมชาติ การปล่อยสัตว์น้ำทดแทน การควบคุมเครื่องมือทำการประมง การดูแลแหล่งวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อน รวมถึงการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำด้วย” อธิบดีกรมประมง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่กำลังมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อนไว้ไม่ให้ถูกทำลายเกินควร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม-15 กันยายน ของทุกปีเป็นฤดูปลามีไข่ในน่านน้ำจืดในท้องที่ทุกจังหวัด
และในช่วงดังกล่าวนี้ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมง หรือด้วยวิธีใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำจืดในท้องที่ทุกจังหวัด โดยยกเว้นการทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือรวบรวมลูกสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพาะเลี้ยงซึ่งต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงก่อน รวมทั้งยกเว้นเครื่องมือประมงบางประเภท อาทิ เบ็ดทุกชนิด เว้นแต่เบ็ดราว ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และ ชะนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง
แต่ทั้งนี้เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ ของประเทศไทยในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำที่เป็นผลสำคัญในการเอื้อต่อการวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อนของสัตว์น้ำก็ย่อมที่จะแตกต่างกันด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเห็นชอบให้จังหวัดต่าง ๆ จำนวน 10 จังหวัดของประเทศกำหนดฤดูปลาน้ำจืดมีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกเป็นการเฉพาะ ประกอบด้วย จังหวัดนคร นายก ลำปาง พังงา ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-31 สิงหาคม จังหวัดลำพูน นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายน จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน-15 ตุลาคม จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 1 กันยายน-31 ธันวาคม จังหวัดพัทลุง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 มกราคม ทั้งนี้หากมีผู้ฝ่าฝืนตามประกาศดังกล่าวนี้ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาทหรือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
“การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และยั่งยืน กรมประมงจึงได้จัดงานวันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ โดยปีนี้ จัดในวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ณ บริเวณ วัดหงษ์ปทุมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ประชาชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจในมาตรการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มชาวประมงและประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากร ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำไว้ใช้อย่างยั่งยืนต่อไป จึงขอฝากคำขวัญไว้สั้น ๆ ว่า “งดจับปลาฤดูมีไข่ อนุรักษ์ไว้ใช้อย่างยั่งยืน” ดร.สมหญิง อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้าย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=199073&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า