เมื่อวันที่ 9 มกราคม 52
กัญชงเป็นพืชที่ชาวเขาที่ราบสูงเป็นผู้ปลูก เพื่อนำเอาลำต้นมาลอกเปลือกออกจากต้น แล้วนำมาต่อให้ยาวแล้วม้วนให้เป็นเส้นก่อนนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมกับขี้เถ้า เพื่อให้เกิดการนุ่มและเหนียวก่อนนำมา ถักทอเป็นวัสดุตามที่ต้องการ ต้นกัญชงมีลักษณะ เหมือนต้นกัญชา แต่กัญชงมีใบที่ใหญ่กว่ากัญชา กลุ่มสตรีแม่บ้านเกษตรกรหลายพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศได้นำมาถักนิตติ้งและโครเชต์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลายรายการด้วย กัน อาทิ เสื้อ กางเกง หมวก กระเป๋า รองเท้า ผ้าคลุมไหล่ ปัจจุบันสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริให้มีการส่งเสริม การปลูกเพื่อนำมาเป็นวัสดุเพื่อการผลิตผลิต ภัณฑ์เพื่อการใช้สอยของประชาชนในพื้นที่และมีหลายพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจนสามารถนำออกสู่ตลาดสร้างรายได้ให้กับชุมชนและครอบครัวของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
อย่างเช่นที่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทางสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีวัสดุมาจากกัญชงอย่างเป็นกิจจะลักษณะในเชิงพาณิชย์ ภายใต้โครงการการส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มอาชีพสหกรณ์การเกษตร
วันก่อนมีโอกาสเดินทางเข้าพื้นที่กับคณะผู้บริหารระดับสูงของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ในโครงการสื่อมวลชนสัญจรเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ในการดำเนินงานโครงการสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สนทนาพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ก็รับทราบถึงประวัติความเป็นมาของกัญชงว่า จากความเชื่อ ของชาวไทยภูเขาที่เชื่อว่าเทพเจ้า หรือ เย่อโซ๊ะ เป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ และได้ประทานพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มาให้มนุษย์ได้ใช้ และ “หมั้ง หรือ กัญชง” ก็เป็นพันธุ์พืชชนิดหนึ่งที่ได้ประทานมาให้มนุษย์ได้ใช้ เพื่อนำเส้นใยมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ใช้สอย และใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ชาวไทยภูเขาจะปลูกต้นกัญชง เพื่อเอาเปลือกมาทำเป็นเส้นด้ายหรือเชือก เนื่องจากเปลือกหรือเส้นใยที่ยังไม่ผ่านขบวนการแปรรูป จะสามารถใช้เป็นเชือกผูกมัดสิ่งของต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
กัญชง เป็นไม้ล้มลุกลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชา แต่ต่อมน้ำมันของกัญชงมีน้อยกว่า ลักษณะแตกต่างกันระหว่างกัญชงและกัญชา คือ กัญชงต้นสูง กิ่งก้านน้อย กัญชาต้นเตี้ย กิ่งก้านมาก กัญชงเส้นใยคุณภาพสูง กัญชาเส้นใยคุณภาพต่ำ กัญชงปลูกระยะห่างระหว่างต้นน้อย เพราะเน้นเอาเส้นใย กัญชาปลูกระยะห่างระหว่างต้นมาก เพราะเน้นเอาใบ ใบกัญชงเมื่อนำมาสูบมีกลิ่นหอมน้อยและทำให้ผู้สูบปวดหัว จึงไม่นิยม ส่วนกัญชาใบมีกลิ่นหอม ทำให้ผู้สูบเคลิบเคลิ้ม ต้นกัญชงจะสูงใหญ่กว่าต้นกัญชา สูงมากกว่า 2 เมตร ใบกัญชงจะมีขนาดใหญ่กว่า มีการเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างกันชัดเจน และไม่มียางเหนียวติดมือ ส่วนกัญชา ลำต้นสูงไม่เกิน 2 เมตร ใบเล็กกว่ากัญชงเล็กน้อย ใบเรียงตัวชิดกันหรือเรียงเวียนโดยเฉพาะใบประดับบริเวณช่อดอกจะเห็นได้ชัดเจนและมักมียางเหนียวติดมือ
เส้นใยกัญชงมีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติที่แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ดูดซับความชื้นได้ดีกว่า ไนลอนและอบอุ่นยิ่งกว่าลินิน จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มได้เป็นอย่างดี เมื่อสวมใส่ในอากาศร้อน จะให้ความเย็นสบายและให้ความอบอุ่นในอากาศหนาว สามารถดูดกลิ่น ดูดความร้อนและสารพิษจากร่างกายที่ขับถ่ายออกมาในรูปของเหงื่อ ใช้ทนทานยิ่งซักยิ่งนุ่มเบา บางสวมใส่สบายไม่ระคายผิวหนัง ไม่มีกลิ่นอับชื้นและไม่ขึ้นราแม้อยู่ในที่อับชื้นอย่างที่ราบสูง
และด้วยเหตุนี้ประชาชนชาวไทยภูเขาจึงนิยมสวมเสื้อผ้าหรือวัสดุเครื่องใช้ที่ใช้วัสดุการผลิตมาจากกัญชงกันเป็นส่วนใหญ่ โอกาสหน้าหากมีโอกาสเดินทางเข้าจังหวัดเชียงใหม่ก็ลองแวะเข้าไปที่อำเภอแม่ริมเยี่ยมชมหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชงติดไม้ติดมือกันบ้างก็ดีไม่น้อย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างแท้จริง และที่สำคัญเป็นการเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=187367&NewsType=1&Template=1