เรื่องกล้วย ๆ ของบัณฑิตนักปฏิบัติ 'ปลูกได้ ต้องขายเป็น'
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 52
เรื่องกล้วย ๆ ของบัณฑิตนักปฏิบัติ 'ปลูกได้ ต้องขายเป็น'
นาน ๆ จะเห็นคนในวัยนี้รักอาชีพการเกษตร นั่นคือ “นายสมพร ทองเพิ่ม” บัณฑิตคืนถิ่นด้านการเกษตรในวัยยี่สิบแปดปี เจ้าของสโลแกน “ปลูกได้ ต้องขายเป็น” และเป็นนักปฏิบัติตัวยงจากเมืองคอน นักการเกษตรเลือดใหม่ในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ครอบครัวของสมพรมีอาชีพการเกษตรมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ปลูกยางพารา ผลไม้พื้นเมืองไว้กินตามฤดูกาล ทั้งมังคุด เงาะ ทุเรียนป่า ลองกอง ฯลฯ มีความหลากหลายทั้งไม้ผลและผักพื้นบ้าน ที่คนใต้เรียกว่า “สวนสมรม”เมื่อได้ผลผลิตก็นำออกขาย บ้างก็ผ่านพ่อค้าคนกลาง ตั้งแต่เล็กจนโต สมพรได้สัมผัสกับวิถีการเกษตร เรียนรู้ และซึมซับการทำนา ทำสวน ทำไร่ของพ่อ “พวง ทองเพิ่ม” ต้นแบบที่ทำให้เห็น ให้คำแนะนำถึงการทำสวนทำไร่ ทั้งการปลูก บำรุงรักษา เก็บเกี่ยว พืชผัก ผลไม้ ข้าว ยาง พารา ฯลฯ จนสมพรเกิดความรักความผูกพัน เห็นว่าอาชีพเกษตรกรมีความสำคัญ มีศักดิ์ศรี และหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นอาชีพของเขาในวันหน้า
เมื่อมีความตั้งใจเต็มร้อยดีแล้ว สมพรได้เลือกเรียนต่อในสาขาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) เพื่อนำความรู้วิชาการมาเติมเต็มความรู้เดิมที่เรียนรู้มาจากพ่อและการลงมือปฏิบัติ อันจะเป็นการ “ยก ระดับการเกษตรของครอบครัว” ระหว่างที่เรียน สมพรยังช่วยงานเกษตรของที่บ้าน และช่วยงานอาจารย์ในฟาร์ม ปลูกผักในบริเวณบ้านพักอาจารย์ นำผลผลิตที่ได้จำหน่ายเสริมรายได้
หลังจบการศึกษาในปี 2546 สมพรได้ทดลองทำงานหาประสบการณ์เพิ่มเติม โดยเป็นครูสอนอาชีพที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อำเภอทุ่งสง เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง ได้เงินเดือน เดือนละ 7,200 บาท เรียกว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง ยังดีที่สมพรไม่ทิ้งการทำเกษตร เขาได้ซื้อที่ดิน 4 ไร่เพื่อนำหน่อกล้วยหอมมาปลูก และเพื่อเป็นการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า สมพรยังใช้พื้นที่ว่างระหว่างต้นยางในสวนยางปลูกกล้วย เพราะกว่าต้นยางจะให้ยางได้ เขาก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากกล้วยได้แล้วถึง 3-4 ปี
หลังเลิกงาน สมพรจะเที่ยวสำรวจแผงค้ากล้วยหอมในตลาดว่ามีที่ใดบ้าง ขายในราคาเท่าไร และต่อไปเขาจะวางกล้วยหอมขายได้ที่ไหน เมื่อสมพรได้แผงขายกล้วยในตลาดแล้ว เขาจึงนำผลผลิตออกขาย มีบ้างที่ขายให้พ่อค้าคนกลาง แต่ก็เพียงพอที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 300-500 บาทต่อวัน ไม่นานนัก สมพรก็ตัดสินใจซื้อที่ดินปลูกกล้วยหอมเพิ่มอีก 4 ไร่
ขณะที่การทำงานในอาชีพประจำ สมพรเริ่มพบว่า เขารู้สึกเบื่อ อึดอัด และไม่มีความสุขกับการเป็นครูเหมือนกับการทำงานสวนที่เขาไม่เคยเบื่อ พร้อมกับที่กล้วยหอมในสวนเริ่มให้ดอกออกผลมากจนขายไม่ทัน ประกอบกับการประเมินว่ารายได้จากการขายกล้วยมีมากกว่าการทำงานประจำกว่าเท่าตัวก็ทำให้สมพรมั่นใจว่าการขายกล้วยจะทำให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีพได้ สมพรจึงลาออกมาทำการเกษตรเต็มตัว และนำผลผลิตที่ได้ออกขายที่ตลาดด้วยตนเองท่ามกลางความประหลาดใจของเพื่อนร่วมงาน ทว่าการออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวก็ทำให้สมพรมีเวลากับการปลูกกล้วยหอม และนำผลผลิตออกขายมากขึ้น จากนั้น 2 ปีต่อมา เขาก็สามารถขยับขยายกิจการให้เติบโตนำไปสู่การเปิดแผงขายกล้วยหอมแผงที่ 2 ในตลาดโต้รุ่งซึ่งมีกลุ่มค้ามากขึ้น
ช่วงนี้เอง สมพรได้นำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาใช้อย่างครบครัน ทั้งในด้านการจัดการการปลูก มีการจดบันทึกข้อมูลการปลูก ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว เพื่อประกอบการวางแผนการจำหน่าย รวมถึงการใช้ความรู้ด้านการจัดการการตลาด ที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยในการขาย ทำให้สามารถตัดวงจรของพ่อค้าคนกลางจากการขายกล้วยหอมได้อย่างสิ้นเชิง สมพรมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ลบจุดอ่อนของเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ที่มักให้ความสนใจกับการปลูกแต่ไม่ให้ความสำคัญกับการขาย จนตกเป็นเหยื่อยอมขายพืชผลในราคาถูกให้นายทุน (อ่านต่อวันจันทร์หน้า)
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=199295&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า