เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 52
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การดำเนินการทดลองพลิกฟื้นดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มเห็นผลดีมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในพื้นที่ดินเค็มน้อย และเค็มปานกลาง ซึ่งมีพื้นที่โดยรวมประมาณ 11 ล้านไร่
ทั้งนี้จากการใช้กระบวนการพัฒนาที่ดินเข้าไปจัดการ ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัวคือเดิมจากไร่ละ 20-30 ถัง เป็น 40-50 ถัง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงสำหรับข้าวนาปีภาคอีสาน ที่เผชิญปัญหาดินเค็ม
"ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 20-30 ถัง/ไร่ หรือเพิ่มขึ้นไร่ละ 200-300 กิโลกรัม ลองคิดดูว่าพื้นที่ดินเค็มน้อย และดินเค็มปานกลาง รวม 11 ล้านไร่ ปีหนึ่งจะได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นถึง 2.2-3.3 ล้านตันเลยทีเดียว"
วิธีการแก้ไขปัญหาอาศัยหลักการที่ว่า ถ้ามีน้ำ มีความชื้นในดินจะกดเกลือไม่ให้ขึ้นมาทำอันตรายแก่ต้นพืช กรมพัฒนาที่ดินใช้ปุ๋ยพืชสด แล้วไถกลบ เพื่อให้เป็นอินทรียวัตถุ ซึ่งจะอุ้มความชื้นได้ดี นอกจากปลูกพืชเศรษฐกิจได้ดีแล้ว ยังเพิ่มผลผลิตไปในตัวด้วย
นอกจากนั้นใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยใช้พันธุ์ข้าวทนเค็ม เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และใช้การปลูกโดยการปักดำ และเพิ่มจำนวนต้นข้าวต่อกอมากกว่าปกติ เพื่อให้แตกรวงมากขึ้น
นายฉลองกล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปพัฒนาที่ดินเค็มผืนใหญ่ 10,000 ไร่ บริเวณเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทั้งดินเค็มจัด เค็มปานกลาง และเค็มน้อย โดยใช้วิธีการบูรณาการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ เช่น ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำคลองระบายน้ำ ทำท่อลอด ปรับพื้นที่ให้ราบ เป็นต้น
"วิธีการเหล่านี้จะระบายความเค็มออกไปได้ ส่วนหนึ่งปลูกหญ้าทนเค็มและกระถินออสเตรเลีย โดยปกติพื้นที่เค็มจัดจะเห็นเกลือปรากฏบนหน้าดิน และไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้เลย หลังจากผ่านมา 2-3 ปีขณะนี้สามารถปลูกข้าวได้แล้วประมาณไร่ละ 40 ถัง และกำลังขยายผลมาทำแปลงทดลองอีก 2 แห่งที่ อ.พระยืน จ.ขอนแก่น และ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา"
นายฉลองกล่าวอีกว่า เดิมทีเดียวเกษตรกรไม่ให้ความสนใจกับการทดลองของกรมฯ แต่หลังจากสามารถปลูกข้าวได้ในพื้นที่เค็มจัดที่พัฒนาแล้ว ทำให้ชาวบ้านสนใจเข้าร่วมการแก้ปัญหาดินเค็มมากขึ้น โดยกรมทำหน้าที่ถ่ายทอดให้ความรู้ในการปรับปรุงดินแก่เกษตรกร และแจกเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด
พื้นที่ภาคอีสานเป็นดินเค็มที่มีเกลืออันเนื่องจากอิทธิพลของแหล่งเกลือ ภายใต้แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร แบ่งเป็นดินเค็มจัด 3 แสนไร่ เค็มปานกลาง 3.8 ล้านไร่ และเค็มน้อย 7 ล้านไร่
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 18 พฤษภาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=161865