เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 52
สถานการณ์เพลี้ยแป้งระบาดในไร่มันสำปะหลังขณะนี้นับว่ารุนแรงพอสมควร เพราะทำลายไร่มันสำปะหลังไปแล้วกว่า 5 แสนไร่ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน พร้อมกำหนดมาตรการในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดรวม 5 มาตรการเพื่อไม่ให้สถานการณ์รุกลามไปมากกว่านี้
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้พบว่ามีการระบาดอย่างรวดเร็วในพื้นที่ 10 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้รับความเสียหายประมาณ 562,000 ไร่จากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ 8 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนด 5 มาตรการหลักในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง
โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในเรื่องนี้ ประกอบด้วย 1.การควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้รุกลามไปยังแปลงเพาะปลูกอื่น เช่น ควบคุมการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์จากพื้นที่ที่พบการระบาด 2.การกำจัดและทำลายเพลี้ยแป้งในพื้นที่ที่พบการระบาดแล้ว 3.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของศัตรูพืชตามระเบียบของกระทรวงการคลัง 4.การแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรในทุกพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังทั้งในพื้นที่เดิมและจะมีการปลูกใหม่ และ 5.การตั้งศูนย์ป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชในพื้นที่และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร
นอกจากมาตรการทั้ง 5 แล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ในการช่วยกันแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งระบาด ตลอดจนจัดหาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสำหรับให้เกษตรกรใช้เพาะปลูก เนื่องจากถ้าไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดในฤดูหน้า และกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังโดยรวมของไทย
นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้น สศก.ได้ประเมินความเสียหายของสถานการณ์เพลี้ยแป้งระบาดในไร่มันสำปะหลังในครั้งนี้ น่าจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังหายไปจากระบบไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ดังนั้น ผลผลิตที่ สศก. คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในฤดูการผลิตหน้าที่ 29.8 ล้านตัน คงจะต้องมีการปรับตัวเลขใหม่ ที่สำคัญเชื่อว่าราคามันสำปะหลังในฤดูการผลิตหน้าจะขยับราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง
ทั้งนี้ การแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งที่รวดเร็วเกิดจากสภาพอากาศแห้งแล้งเหมาะสมกับการเจริญของเพลี้ยแป้ง โดยเพลี้ยแป้งจะเข้าทำลายส่วนยอดอ่อนและตาอ่อนของมันสำปะหลังทำให้หงิกงอ การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ลำต้นแห้งตาย ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ลดลงเป็นอย่างมาก สศก.จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ถ้าพบเห็นการระบาดของเพลี้ยแป้งในแปลงปลูกมันสำปะหลัง ให้รีบดำเนินการป้องกันกำจัด หรือแจ้งมายังศูนย์บริหารศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร ที่อยู่ใกล้บ้านให้รับทราบทันทีเพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทัน
สำหรับวิธีการกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังสามารถทำได้ทั้งการใช้สารเคมี และไม่ใช้สารเคมี โดยสามารถใช้สารเคมีประเภทดูดซึมฉีดพ่น 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 7 วัน เช่น ไทอะมีโทแซม 25% และเพื่อให้ได้ผลดี ก่อนฉีดพ่นสารเคมีควรตัดต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งเผาไฟทิ้ง ส่วนการกำจัดเพลี้ยแป้งอีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส แตนเบียน และเชื้อราขาวบิวเวอร์เรีย ที่สำคัญแปลงที่พบเพลี้ยแป้งระบาดทำลายไร่มันสำปะหลังแล้ว นอกจากเผาทำลายแล้วควรพักแปลงและปลูกพืชชนิดอื่นแทน ซึ่งแนะนำให้ปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ถั่วพร้า เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน และจะเป็นการตัดวงจรเชื้อให้หมดไป
ช่วงนี้ชาวไร่มันสำปะหลังควรดูแลผลผลิตของตัวเองให้ดี ถ้าพบความผิดปกติควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เพลี้ยลุกลามกระจายวงไปมากกว่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เกษตรกรเสียหายแล้วยังจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งระบบอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 18 พฤษภาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=161862