เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 52
เกษตรกร อ.ภูเพียง แห่งเมืองน่าน ร่วมกับศูนย์โจ้โก้ โดยการนำของ ลุงสำรวย ผัดผล วัย 50 ปีเศษ ใช้แปลงนาชาวบ้านทดลองปรับปรุงสายพันธุ์ “ข้าวเหนียว” โดยไม่ง้อสถานีวิจัยข้าวของรัฐ
นับเป็นแห่งแรกของประเทศ โดยทำมา 20 ปี ได้พันธุ์ข้าวเหนียวพื้นเมืองเหมาะกับพื้นถิ่นถึง 300 กว่าสายพันธุ์ โดยยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมของชาวบ้านทุกขั้นตอน เพื่อเป้าหมายร่วมอนุรักษ์ ผลิตใช้กันเอง ลดต้นทุนในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ลุงสำรวย ในฐานะประธานศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ บอกว่า ศูนย์ร่วมกับชาวบ้านได้ศึกษาทดลองปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวแบบมีส่วนร่วมของชาวบ้านขึ้นเป็นที่แรกของประเทศไทย ซึ่งมีความต่างจากแนวทางกระแสหลักในแบบเดิมที่มีคือรัฐเป็นฝ่ายจัดทำ
"เมื่อก่อนกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ข้าวรัฐจะใช้วิธีรวบรวมเมล็ดพันธุ์ของชาวบ้าน จากนั้นจะส่งมอบให้ผู้วิจัยใน 2 แหล่ง คือ ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร และสถานีวิจัยสถาบันการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยนักวิชาการจะเป็นผู้คัดเลือกดูแลกระบวนการทดลอง จากนั้นจึงประกาศให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก" ลุงสำรวย เล่า
ลุงสำรวยกล่าวว่า มีปัญหาเช่นกัน เพราะกระบวนการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวที่รัฐนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกนั้น อาจไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้านแต่ละพื้นที่ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อวิถีการผลิตแบบใหม่ ที่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี และเครื่องไถพรวนจักรกล ซึ่งอาจจะเป็นที่พอใจของชาวนารุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ นิยมใช้การพ่นยาฆ่าหญ้าบนคันนา และใช้ควายเหล็กไถดะ ไถแปร ไถพรวน แบบม้วนเดียวจบ ที่มากไปกว่านั้นคือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้ไม่เพียงพอต่อเกษตรกรผู้ปลูก ขณะที่เกษตรกรรุ่นหลังก็ไม่ใส่ใจจะคัดเลือกพันธุ์ข้าวให้มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ
"เพื่อเป็นการแก้จุดอ่อนดังกล่าว ทางศูนย์จึงร่วมกับชาวบ้านริเริ่มรวบรวมสายพันธุ์ข้าวเหนียวพื้นเมืองและพันธุ์ดีที่ทางการมีอยู่มาคัดเลือกใหม่ และทดลองผสมแล้วปลูก เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่โดยตรง โดยศึกษาดูการปรับตัว ความแข็งแรง ทนต่อโรคและข้อดีด้านต่างๆ ถือเป็นกระบวนการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวเหนียวแบบมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่แรกของเมืองไทย"
กระบวนการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวนี้ ชาวบ้านจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การวางระบบ คัดเลือก ใช้ที่นาของตนเองทดลองปลูกไปพร้อมกัน การที่ชาวนาเข้าร่วมใช้ผืนนาของตนเองทดลองจะทำให้ไม่เปลืองงบประมาณ ไม่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ ไม่ต้องมีสถานีวิจัยข้าว ซึ่งศูนย์ได้ทดลองศึกษาบนแปลงนาจริงของชาวบ้านต่อเนื่องมา 20 กว่าปี มีเครือข่ายชาวบ้านเป็นสมาชิกเข้าร่วมปรับปรุงพันธุ์ข้าวจนถึงขณะนี้ 2,000 กว่าครอบครัว ในหลายอำเภอของ จ.น่าน และยังมีจาก จ.เชียงราย เลย เพชรบูรณ์ และหนองคาย ที่มาซื้อสายพันธุ์
ประธานกลุ่มแจงอีกถึงผลการดำเนินการช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ว่า มีพันธุ์ข้าวคุณภาพใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อผลิตไว้รับประทานกันเองในพื้นที่ แล้วยังเป็นการร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองไว้ ซึ่งปัจจุบันได้ถึง 316 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียวที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ของเกษตรกร จ.น่าน โดยสายพันธุ์คุณภาพขึ้นชื่อที่ร่วมกับชาวบ้านปรับปรุงขึ้นมา ได้แก่ พันธุ์หวัน 1 หวัน 2 และ พันธุ์เหนียวมะลิ
"ตอนนี้ชาวบ้านอยู่ระหว่างนำเอาพันธุ์ กข 6 ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานโรคชนิดใหม่ๆ นำมาผสมข้ามพันธุ์ เพื่อขยายเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือก ใกล้จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้" ลุงสำรวยกล่าวในตอนท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 19 พฤษภาคม 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090519/13291/รวมพลังปรับพันธุ์ข้าวเหนียวอนุรักษ์ยั่งยืนใช้เองที่เมืองน่าน.html