เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 52
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยบ้าง แต่ยังเชื่อว่าภาคการเกษตรจะเป็นเสาหลักในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้ และจากการวิเคราะห์สถานการณ์พืชเศรษฐกิจไทยที่มีอนาคตสดใสในปีนี้มีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย
โดยพื้นที่เพาะปลูกข้าวในไทยมีอยู่ 57 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 23.3 ล้านตันข้าวเปลือก เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ 406 กก. อย่างไรก็ตาม ปริมาณส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 8.5-9.5 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากประเทศคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม อินเดีย และจีน มีการฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายไม่สูงมากเหมือนปี 2551 แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สูงอยู่ ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะผลักดันในการเปิดตลาดใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออก โดยเฉพาะตลาดแอฟริกาที่มีความต้องการสูง
ส่วนมันสำปะหลังมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกจากปี 2551 ที่ 7.4 ล้านไร่ เป็น 8.2 ล้านไร่ ผลผลิตจาก 25.16 ล้านตัน คาดว่าจะสูงถึง 29.80 ล้านตัน แต่จากสถานการณ์เพลี้ยแป้งระบาดทำลายผลผลิตไปจำนวนมาก ดังนั้นอาจต้องปรับตัวเลขลงจากที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น เนื่องจากคาดว่าจะผลผลิตเสียหายไปไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้จะส่งผลให้มันสำปะหลังหายไปจากระบบจำนวนมาก ทำให้ราคามันสำปะหลังจะพุ่งสูงขึ้นแน่นอน
ส่วนยางพาราที่ผ่านมาส่งออกปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ตลาดใหญ่ๆ คือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา แต่ภาวะเศรษฐกิจของโลกไม่เอื้ออำนวย จึงจำเป็นต้องรักษาตลาดเดิมไว้ให้ได้ นอกจากนี้ ยังต้องมีการวางแผนในการจัดเก็บสต็อกยางพาราไว้ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นเราก็จะผลักดันเรื่องการส่งออกต่อไป เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมันที่มีการขยายการผลิตเพิ่ม โดยขณะนี้ผลผลิตเริ่มออกแล้ว คาดว่าผลผลิตจะเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความต้องการใช้ในเรื่องของอาหารค่อนข้างคงที่ แต่การนำไปผลิตไบโอดีเซลยังไม่ค่อยแน่นอน จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลตรงนี้ไว้เพื่อให้ราคาของปาล์มน้ำมันคงที่ สำหรับอ้อยปีนี้มีราคาดีมาก เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยน้อยลง ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้ คาดว่าประมาณกลางปี 2553 อ้อยจะยิ่งราคาสูงขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าอ้อยเป็นพืชที่มีอนาคตไกล
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 19 พฤษภาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=161998