เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 52
ก.เกษตรฯการ์ต้าเชื่อมาตรฐานข้าวไทย ยอดสั่งถึงปี 53 รวมสองแสนตัน ส.ป.ก.สบช่องขยายพื้นที่เพาะพันธุ์ข้าว ดันเทคโนโลยีช่วยเกษตรในเขตปฏิรูป
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันต่างชาติให้ความสนใจผู้ผลิตข้าวของไทยในเรื่องมาตรฐานมาก เช่น ปริมาณการใช้สารเคมี แหล่งที่มาของข้าว เป็นต้น ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศการ์ต้าได้สั่งข้าวจำนวน 200,000 ตันจากเกษตรกรไทยในเขตปฏิรูปที่ดิน เพราะเห็นว่าสามารถตรวจสอบแหล่งเพาะปลูก และกระบวนการในการปลูกได้
“ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ปฏิรูปส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก ซึ่งรวมไปถึงการทำนาที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1 ล้านไร่ เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว ไถกลบตอซัง หรือการระเบิดดินดาน ซึ่งทำให้ลดต้นทุนไปได้มาก นอกจากนี้ยังทำให้ต่างชาติที่เป็นประเทศคู่ค้าของประเทศไทยหันมาให้ความสนใจว่าข้าวที่ผลิตได้เป็นข้าวที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และลดปริมาณการใช้สารเคมี ซึ่งผู้ซื้อสามารถตรวจสอบประวัติของข้าวได้ตลอดเวลา ต่างจากการซื้อข้าวจากโรงเก็บหรือโรงสี ที่ไม่ทราบได้ว่าเป็นข้าวที่มาจากแหล่งผลิตใด จากจุดนี้เองที่ทำให้ประเทศการ์ต้าสั่งซื้อข้าวจากเกษตรกรไทยในเขตปฏิรูปจำนวน 200,000 ตัน ภายในปี 2553 โดยการ์ต้าจะมาซื้อจากเกษตรกรโดยตรง”
เลขาฯส.ป.ก. กล่าวอีกว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ ส.ป.ก. จะเปิดโครงการ export ข้าวเพื่อรองรับการขยายพื้นที่เพาะพันุธ์ข้าว โดยจะจัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวใน 4 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และร้อยเอ็ด รวมพื้นที่ทั้งหมด 15,000 ไร่ โดยจะใช้องค์ความรู้แบบระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม (GAP) คือ มีพื้นที่การเพาะปลูกที่เหมาะสม มีการดูแลพืชที่เพาะปลูกถูกวิธี มีการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องเป็นหลักในการจัดการ
นอกจากเทคนิคการทำนาในรูปแบบดังกล่าวแล้ว ส.ป.ก.ยังได้พัฒนาเรื่องปุ๋ยร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ คือ สร้างโรงปุ๋ยอินทรีย์ที่แต่ละโรงจะมีสูตรเฉพาะสำหรับชุมชนแต่ละแห่งเพื่อให้เหมาะกับดินและพืชในชุมชนนั้น เพื่อเป็นการลดความฟุ่มเฟือยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์
สัดส่วนที่ทำและได้ผลอย่างมาก คือ พื้นที่ปาล์ม ที่ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงกว่า 40 % ด้วยกระบวนการจัดการ เรื่องต่อไปที่ส.ป.ก.จะทำคือ เรื่องการจัดรูปแปลงนาเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่นาดอน และพื้นที่นาลุ่มด้วยกระบวนการการใช้เครื่องจักรกลปลูก ซึ่งเรื่องนี้จะเปิดโครงการในผืนดินพระราชทานร่วมกับกรมการข้าว โดยจะนำแกนนำที่ทำศูนย์จักรกลบริการไปศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องเครื่องจักรกลไปจนถึงระบบการจัดการ การบริหารธุรกิจ
จากนั้นจึงให้เข้าไปบริหารศูนย์จักรกลบริการจริง ในวันนี้ศูนย์จักรกลบริการเริ่มดำเนินการบ้างแล้วที่นิคมสุพรรณบุรี นิคมนครปฐม นิคมฉะเชิงเทรา นิคมร้อยเอ็ด โดยส.ป.ก.ตั้งเป้าหมายไว้ว่าเมื่อชาวบ้านเข้าใจวิธีการผลิตที่ถูกต้องที่จะรักษาความสมบูรณ์ของดินไว้ได้ สามารถเข้าสู่แหล่งทุนเองได้ แรงงานหนุ่มสาวจะกลับมา ความเป็นสถาบันครอบครัวของเกษตรกรก็จะกลับมา ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการจัดการเขตกรรมโดยภาคประชาชนหรือเกษตรกรผู้ที่ปลูกข้าวเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 20 พฤษภาคม 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090520/13542/การ์ต้ามั่นใจคุณภาพข้าวไทยออร์เดอร์2แสนตัน.html