เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 52
ทีมนักวิจัย มก. ประสบความสำเร็จในการรีดเก็บน้ำเชื้อ "เต่าทะเล" ครั้งแรกในโลก เผยแช่แข็งเก็บได้ 4 วัน เตรียมพัฒนาสู่การผสมเทียมเพิ่มปริมาณสู่ธรรมชาติ
เรื่องที่น่ายินดีสำหรับทีมนักวิจัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ประสบความสำเร็จในการรีดเก็บน้ำเชื้อเต่าทะเลครั้งแรกของโลก ถูกเปิดเผยโดย รศ.สพ.ญ.ดร.เกษกนก ศิรินฤมิตร อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยการรีดเก็บน้ำเชื้อและการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อเต่าทะเลว่า ปัจจุบันเต่าทะเลที่พบในประเทศไทยมี 5 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน แต่เต่านี้พบว่าปริมาณการวางไข่ของเต่าทะเลทุกชนิดทั้งในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนสาเหตุการลดลงของเต่าทะเลนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การล่า เพื่อเป็นอาหาร เครื่องประดับ การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเครื่องมือประมง สภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือสูญเสียพื้นที่สำหรับวางไข่จากการคุกคามของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น และจากปัญหาดังกล่าว คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จ.ภูเก็ต และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล
ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยการรีดเก็บน้ำเชื้อโดยวิธีกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อในเต่าทะเล การทำน้ำเชื้อแช่เย็นโดยสามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อได้นานมากกว่า 4 วัน พร้อมกับการศึกษารูปร่างอสุจิโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และทำน้ำเชื้อแช่แข็งได้เป็นครั้งแรกของโลก และความรู้เหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลขององค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับน้ำเชื้อเต่าทะเลในประเทศไทย และเพื่อต่อยอดการผสมเทียมเต่าทะเลในอนาคต
รศ.สพ.ญ.ดร.เกษกนก กล่าวอีกว่า โครงการวิจัยในครั้งนี้ได้คัดเลือกเต่าทะเล 2 สายพันธุ์ คือ เต่าหญ้าและเต่ากระ เพศผู้ ซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายผั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง จากนั้นนำมาวัดขนาดกระดอง ชั่งน้ำหนัก และฉีดยาซึม แล้วใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากระตุ้นในปริมาณไฟฟ้าต่ำๆ ให้อวัยวะเพศหลั่งน้ำเชื้อออกมา ซึ่งวิธีดังกล่าวมีการใช้ในสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ
เมื่อได้น้ำอสุจิเต่าแล้วนำน้ำเชื้อของเต่าไปตรวจคุณภาพโดยใช้สารละลายน้ำเชื้อที่เหมาะสมและใช้เทคนิคการย้อมสีน้ำเชื้อพิเศษเพื่อให้เห็นตัวอสุจิที่สมบูรณ์ พบว่า น้ำเชื้อเต่าหญ้ามีลักษณะค่อนข้างหนืด มีเมือกปน พบตัวอสุจิร่วมกับส่วนก้อนกลมเรียงติดกันเป็นกลุ่มๆ ส่วนหัวของอสุจิ มีลักษณะเรียวแหลม บิดเป็นเกลียว ลักษณะการเคลื่อนที่หมุนวนคล้ายเกลียวสว่าน มีปริมาตรน้ำเชื้อเฉลี่ย 1 มิลลิลิตร (อยู่ในช่วง 0.01 ถึง 2.2 มิลลิลิตร)
การเคลื่อนไหวของอสุจิเฉลี่ย 28.25% (อยู่ในช่วง 0 ถึง 98%) ความเข้มข้นอสุจิ เฉลี่ย 67.3 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร (อยู่ในช่วง 11.5 ถึง 150 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร) และจำนวนอสุจิทั้งหมด 40.9 ล้านตัว (อยู่ในช่วง 1.2 ถึง 82.4 ล้านตัวต่อการหลั่ง 1 ครั้ง) จากนั้นนำน้ำเชื้อเต่าหญ้ามาทำการแช่เย็นพบว่าภายหลังการแช่เย็นน้ำเชื้อยังมีชีวิตอยู่และเก็บรักษาได้นานกว่า 4 วัน และนำมาศึกษาลักษณะกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน รวมทั้งทำการแช่แข็งซึ่งพบว่าน้ำเชื้อเต่าหญ้าที่แช่แข็งยังมีชีวิตและมีการว่ายที่แข็งแรง
"ผลการวิจัยของเรา พบว่าน้ำเชื้อเต่ากระมีลักษณะคล้ายกับอสุจิของเต่าหญ้า มีปริมาณน้ำเชื้อประมาณ 4.4 มิลลิลิตร การเคลื่อนไหวของอสุจิประมาณ 60% ความเข้มข้นของอสุจิ 512 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร และจำนวนอสุจิทั้งหมด 1,510 ล้านตัว เมื่อมาถึงจุดนี้ภารกิจต่อไปของโครงการเรา คือหาช่วงความสมบูรณ์พันธุ์ทั้งในเต่าเพศผู้และเพศเมียโดยการตรวจฮอร์โมนเต่าตลอดทั้งปีเพื่อการพัฒนาสู่การผสมเทียมต่อไปในอนาคต" อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 21 พฤษภาคม 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090520/13678/นักวิจัยมก.รีดอสุจิเต่าทะเลสำเร็จครั้งแรกของโลก.html