ปลูกไผ่บงหวาน 3 ไร่ สร้างรายได้งามที่นครสวรรค์
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 52
ปลูกไผ่บงหวาน 3 ไร่ สร้างรายได้งามที่นครสวรรค์
คุณฐณะณัฐ ระมั่งทอง เกษตรกรชาวจังหวัดนครสวรรค์ โดนพิษเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ต้องออกจากงานประจำในกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นได้มองหาอาชีพหลายอย่าง
ตั้งแต่ไปขายกล้วยปิ้งที่ต้องขายบนรถแต่ในกรุงเทพมหานครหาพื้นที่จอดขายยากมาก ไม่นานก็ต้องเลิกไป จากนั้นก็ไปขับแท็กซี่และไปขายเตาประหยัดพลังงาน สุดท้ายก็กลับมาที่บ้าน จ.นครสวรรค์ ได้ปรึกษากับพ่อได้ข้อมูลว่าคนในหมู่บ้านมีคนทำสวนไผ่เลี้ยงอยู่ ก็มีโอกาสได้ไปดูสวนไผ่เลี้ยงดังกล่าว จึงเกิดความสนใจคิดจะปลูกไผ่ขึ้นมา เริ่มหาข้อมูลว่าไผ่พันธุ์ไหนที่มีความน่าสนใจบ้าง ในที่สุดก็ตัดสินใจปลูก “ไผ่บงหวาน” ในพื้นที่ 3 ไร่ สร้างรายได้พอเลี้ยงครอบครัว
คุณฐณะณัฐบอกว่า “ไผ่บงหวาน” มีความพิเศษตรงที่สามารถรับประทานหน่อดิบได้ทันที หน่อดิบจะรสชาติหวาน ไม่มีรสขมเลย มีความกรอบอร่อย สามารถบริโภคเป็นผักสดกับน้ำพริกหรือประกอบอาหารโดยไม่ต้องต้มน้ำทิ้งเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่น สามารถหั่นสับ ผัด หรือ แกงได้ทันที อย่างเมนูแนะนำคือ ส้มตำไผ่บงหวาน อร่อยมาก ไผ่บงหวานสามารถใช้แทน “ยอดคอมะพร้าวอ่อน” ได้ดีทีเดียว
และเป็นจุดเด่นที่ลูกค้ามาซื้อหน่อไผ่บงหวานไปบริโภคมักจะกลับมาซื้ออีก ฤดูกาลที่เหมาะต่อการปลูก “ไผ่บงหวาน” ถ้ามีแหล่งน้ำดีก็สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่จากประสบการณ์ของคุณฐณะณัฐพบว่า ปลูกไผ่บงหวานในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ก่อนเข้าฤดูฝนต้นไผ่จะมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าการปลูกไผ่บงหวาน ในช่วงฤดูฝน เหตุผลคือ หากปลูกไผ่บงหวานก่อนเข้าฤดูฝนต้นไผ่จะตั้งตัวและออกรากก่อนเข้าฤดูฝน เมื่อฝนมาก็จะทำให้ไผ่เจริญเติบโตเร็วมาก แต่หากปลูกในช่วงฤดูฝนเลย ต้นไผ่ก็ต้องการปรับสภาพในช่วงแรก บางครั้งฝนตกมากน้ำขังแฉะก็ทำให้ต้นไผ่ชะงักการเจริญเติบโตบ้าง รากเน่าบ้าง หากเทียบการเจริญเติบโตแล้วสู้วิธีการปลูกก่อนเข้าฤดูฝนไม่ได้
ในการดูแลรักษาต้นไผ่บงหวาน ช่วง 1 ปีแรก ก็จะมีเรื่อง “ตัดหญ้า” ให้สวนไผ่สะอาด โปร่งอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อไผ่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป ต้นไผ่มีใบปกคลุมสร้างร่มทั้งสวน แสงแดดส่องไม่ถึง หญ้าก็จะไม่ขึ้น ก็จะลดภาระการตัดหญ้าลงไปทันที และต้องหมั่นระวังไฟป่าหรือมีแนวกันไฟรอบสวนไผ่ก็จะเป็นการดี เรื่องการสางกอไผ่ ไผ่จะมีการแตกหน่อเจริญเป็นลำไผ่ แต่ก็จะมีกิ่งแขนงหน่อเล็ก ๆ ที่แตกตามตาของส่วนต่าง ๆ มากมาย
ก็ควรจะต้องใช้มีดหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งเหล่านั้นออกให้หมด ให้กอไผ่มีแต่ลำไผ่หลักเท่านั้น ต้องหมั่นสางกอให้โล่งสะอาดอยู่เป็นประจำ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=199749&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า