'เกาะยอ' แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งต้นกำเนิดของ 'จำปาดะขนุน'
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 52
'เกาะยอ' แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งต้นกำเนิดของ 'จำปาดะขนุน'
แวบ.. ไปทางภาคใต้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ไปหลายที่หลายแห่งรวมทั้ง เกาะยอ ก็แวะไปด้วย สำหรับตำบลเกาะยอ ตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลาทางตะวันตกของ อ.เมืองสงขลา ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา 1 กิโลเมตร มีพื้นที่ 15 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,375 ไร่ แบ่งการปกครองเป็น 9 หมู่บ้าน สภาพเป็นเกาะ ล้อมรอบด้วยทะเลสาบสงขลา พื้นที่บนเกาะมีภูเขาสูงประมาณ 100- 200 เมตร และเป็นที่ราบลาดสู่ชายฝั่งทะเลสาบตะวันออก เกาะตอนใต้เป็นพื้นที่ราบและพื้นที่ราบเชิงเขา เดิมการคมนาคมระหว่างเกาะยอกับตัวเมืองสงขลาใช้เรือเป็นพาหนะ ปัจจุบันมีสะพานเชื่อมติดต่อ คือ “สะพานติณสูลานนท์” ซึ่งเป็นสะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทย สวยงาม และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลาทำให้การสัญจรไป-มาระหว่างตัวเมืองสะดวกรวดเร็วขึ้น
การประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้านขนาดเล็กในทะเลสาบ สวนผลไม้ เช่น ละมุด ขนุน จำปาดะขนุน ทุเรียน มะพร้าว กระท้อน เงาะ ลางสาด เป็นต้น นอกจากนี้บางส่วนปลูกยางพารา เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง เพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนาง เลี้ยงไก่ ทอผ้า และค้าขาย เป็นต้น
ในส่วนของ “จำปาดะขนุน” นำสองชื่อมารวมกันเป็นชื่อของผลไม้อีกชนิดหนึ่งของตำบลเกาะยอที่เป็นที่รู้จักและนิยมรับประทานกัน เนื้อสีจำปา รสหวาน กลิ่นหอมเหมือนจำปาดะเมื่อสุก ผิวภายนอกเหมือนขนุน อยู่กึ่งกลางระหว่างขนุนกับจำปาดะ และมีความแตกต่างจากจำปาดะพื้นเมือง คือ เนื้อหนา ยวงไม่หลุดจากไส้เมื่อดึงออกจากเปลือก จะติดเป็นช่ออยู่อย่างนั้น ขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่งปลูก และจำหน่ายเป็นรายได้ เกษตรกรมีการดูแลผลผลิตโดยการห่อผล เพื่อป้องกันแมลงเจาะผลโดยใช้ถุงกระดาษ และใบมะพร้าวสาน เรียกว่า “ครุ” หรือ “โคระ” จะทำให้ผิวของผลสวยงาม มีการปลูกกันมาตั้งแต่สมัยเจ้าเมืองสงขลา แต่สมัยนั้นยังไม่แพร่หลาย ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ออกไปหลายหมู่บ้าน ตลอดจนต่างอำเภอ และต่างจังหวัด นำไปปลูกแพร่หลายมากขึ้น เนื้อที่ปลูกประมาณ 300 ไร่ ผลผลิต 500 ผลต่อไร่ต่อปี มีเกษตรกรปลูก 150 ราย
กรมส่งเสริมการเกษตรพาเราไปสวนจำปาดะขนุนของท่านผู้เฒ่า เถ็กฉ้วน ศรีสุวรรณ โปรดสังเกต นามสกุลนี้มีอยู่ทั่วประเทศ อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 2 ต.เกาะยอ มีพื้นที่ปลูก 3 ไร่ (30 ต้น) อายุต้นเฉลี่ย 30 ปี ผลผลิตเฉลี่ย 200-300 กก.ต่อต้นต่อปี น้ำหนักเฉลี่ยผลละ 3-4 กก. ผลผลิตจะออกตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่ออกมากมี 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ออกดอกติดผลเดือนกุมภาพันธ์ ห่อผลเดือนมีนาคม- เมษายน เก็บผลได้เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม (อายุประมาณ 3-4 เดือน) ช่วงที่ 2 ออกดอกติดผลเดือนสิงหาคม ห่อผลเดือนกันยายน-ตุลาคม เก็บผลได้เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
สำหรับราคาจำหน่ายโดยเฉลี่ย 15-20 บาทต่อกก. แหล่งจำหน่ายผลผลิต ตลาดในตำบลเกาะยอ จำหน่ายเอง และส่งพ่อค้าในตำบลเกาะยอ
ท่านผู้เฒ่าเถ็กฉ้วน มีวิธีป้องกันแมลงวันทองด้วยการห่อผลด้วยถุงสีน้ำตาล นี่ไม่เท่าไหร่หรอก เพราะใคร ๆ ก็ห่อผลด้วยวิธีนี้ทั้งนั้น อีกวิธีที่สำคัญคือการห่อผลด้วย “โคระ” คือ การเอาใบมะพร้าวมาสานเป็นรูปทรงรี ขณะที่ใบมะพร้าวยังเขียวอยู่ สานเสร็จก็แขวนไว้ให้แห้งเป็นสีน้ำตาลจึงนำไปห่อผลจำปาดะขนุน ที่เห็นว่าสวนนี้มีการห่อด้วยถุงสีน้ำตาล นั่นเป็นเพราะสานโคระไม่ทันนั่นเอง
เกษตรกรนำใบมะพร้าวหรือทางมะพร้าว (อันเดียวกัน) มาตัดให้เหลือก้านใบ 10-15 ก้าน จำนวน 2 ทางใบ นำมาสานในลักษณะลายขัด เป็นลูกขนาดกว้างและยาวพอเหมาะกับผลจำปาดะ นำมาสวมผลจำปาดะตอนผลเล็ก อายุประมาณ 20-30 วัน ไม่ต้องเอาออกจนสุกเก็บเกี่ยวได้ แมลงวันทองหรือแมลงวันผลไม้จะไม่เข้าทำลายผลจำปาดะ เป็นการลดการเสียหายของผลผลิต ปลอดภัยจากสารเคมี ต้นทุนต่ำ ทำให้ผลผลิตมีสีผิวสวย น่าซื้อ
แล้วทำไมต้องรอให้โคระแห้งเป็นสีน้ำตาลก่อนนำไปห่อผล ก็เนื่องมาจาก ท่านผู้เฒ่าบอกว่า แมลงวันไม่กลัวสีเขียว หากนำโคระที่ยังเป็นสีเขียวสดไปห่อผลแล้วมันกันแมลงวันไม่ได้ เพราะแมลงวันทองมันเข้าไปเจาะผลอยู่ดี จากประสบการณ์ทำให้รู้ว่า ต้องนำโคระที่แห้งเป็นสีน้ำตาลแล้วเท่านั้นไปห่อผลจึงจะได้ผล คือ แมลงวันทองไม่กล้าเข้าไปเจาะ ด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบได้ แต่ท่านผู้เฒ่าบอกว่า เพราะมันกลัวสีน้ำตาลไง แม้ว่าโคระนั้นจะมีรูอยู่ทั่วไปก็ตาม ทั้งนี้จำปาดะขนุนมีอายุได้ 1 เดือน จึงจะนำโคระไปห่อผล
ชุมชนเกาะยอ ได้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิมหลายอย่าง และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยเพราะมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศคือ ผ้าทอเกาะยอ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลวดลายสวยแปลกตา อันเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันได้มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปร่วมฟื้นฟูทำให้ผ้าทอเกาะยอได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
สำหรับจุดท่องเที่ยวเกษตรเกาะยอ ดูรายละเอียดได้ที่
http://mueang.songkhla.doae.go.th/mu5.htm
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=200113&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า