กรมประมงเตือนเฝ้าระวัง โรคปลาช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 52
กรมประมงเตือนเฝ้าระวัง โรคปลาช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงโรคปลาในช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูกาลว่า ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาประเทศไทย มีผลต่ออุณหภูมิและน้ำสูงมาก และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ลดน้อยลง เมื่อมีฝนตกอุณหภูมิอากาศและน้ำจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากสภาวะดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาที่เลี้ยงโดยตรง โดยปลาจะทำให้ปลาเครียด อ่อนแอและรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำ ลำน้ำ อ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำต่าง ๆ
โรคปลาที่ควรเฝ้าระวังในช่วงนี้ ได้แก่
โรคที่เกิดจากปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา เหาปลาและหมัดหมา เป็นต้น โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอสคัส แอโรโมแนส เป็นต้น แบคทีเรียดังกล่าว จัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียนักฉวยโอกาสที่สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป โดยจะเข้าไปทำอันตรายปลาเมื่อปลาอ่อนแอและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยผ่านกระแสเลือดที่กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นอยู่กับสภาพความแข็งแรงของปลา การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อม หรือคุณสมบัติน้ำไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของปลา
โดยปลาที่มีปรสิต จะมีลักษณะอาการเช่น ว่ายน้ำผิดปกติ หายใจถี่ มีจุดแดง แผลถลอกตามผิวลำตัว เป็นต้น และปลาที่ติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการ ซึม ไม่กินอาหาร มีแผลเลือดออกตามลำตัวและอวัยวะต่าง ๆ มีตุ่มฝีที่บริเวณใต้คางและผิวลำตัว ตาขุ่น เป็นต้น
ส่วนการรักษาโรคปรสิตนั้น ทำโดยการตัดวงจรชีวิตปรสิต กำจัดตะกอนและเศษอาหารที่เกาะติดตามกระชัง และใช้สารเคมี เช่น ไตรคลอร์ฟอน อัตราการใช้ 0.5-0.75 ส่วนในล้าน ทำทุก ๆ 1 สัปดาห์ ทำซ้ำติดต่อกัน 3-4 ครั้ง หรือ ฟอร์มาลินเข้มข้น 200-250 ส่วนในล้านส่วน นาน 15-30 นาที ถ้าเป็นปลาที่เลี้ยงในกระชัง ควรนำปลาขึ้นจากกระชังชั่วคราว พักใส่ถังหรือบ่อหรือใช้ผ้าใบล้อมกระชังปลาแล้วจึงใช้สารเคมีไม่ควรใส่ยาหรือสารเคมีลงในแหล่งน้ำโดยตรง ส่วนปลาที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ให้ใช้ต้านจุลชีพ ผสมอาหารให้กินตามคำแนะนำในฉลากยา
หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโรคสัตว์น้ำสามารถติดต่อขอคำแนะนำในเรื่องการดูแลสุขภาพสัตว์น้ำได้จากสำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงหรือสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด โทร. 0-2579-4122 หรือสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง โทรศัพท์หมายเลข 0-7433-4516-8.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=200344&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า