เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 52
นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการเปิดเขตการค้าเสรี ซึ่งปัญหาการกีดกันทางการค้าเรื่องกำแพงภาษีใช้ไม่ได้เพราะภาษีจะเป็น 0% สิ่งที่ประเทศคู่ค้าจะนำมาเป็นตัวกีดกันทางการค้าคือเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นเกษตรกรจะต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยจากสารเคมี กรมพัฒนาที่ดินจึงมีนโยบายเร่งด่วนในการคัดเลือกพื้นที่ทำการเกษตรที่ลดการใช้สารเคมี เป้าหมาย 1 ตำบล/จุด เพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภคภายในและส่งออกไปต่างประเทศ
โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 100% ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว พื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ 100% แต่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และพื้นที่ที่มีการลดการใช้สารเคมี ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ที่ทำเกษตร 100% แต่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานประมาณ 2 แสนไร่ กรมฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล ส่วนพื้นที่ที่ลดการใช้สารเคมีนั้นกรม จะผลักดันให้ไปสู่ระดับเกษตรอินทรีย์ในอนาคต
ที่ผ่านมากรม ได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2550 จัดตั้งกลุ่มได้แล้ว 34,000 กลุ่ม เกษตรกร 1.7 ล้านคน และในปีหน้าจะจัดตั้งเพิ่มอีก 17,000 กลุ่ม เกษตรกรเป้าหมาย 850,000 คน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตสารอินทรีย์ไว้ใช้เองและจำหน่ายให้เกษตรกรในละแวกใกล้เคียง ทำให้เกิดความเข้มแข็งและลดต้นทุนการผลิตได้มาก
"แต่ละปีกรม จะประเมินผลความสำเร็จของกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี ส่วนใหญ่พบว่ากว่าร้อยละ 50 มีการขับเคลื่อนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองในกลุ่มและจำหน่ายบ้างบางส่วน ทำให้พื้นที่เกษตรมีการลดใช้สารเคมีลงไปได้จำนวนมาก ซึ่งเชื่อมั่นว่าถ้ากลุ่มเกษตรกรเหล่านี้มีการขับเคลื่อนการผลิตได้เต็มกำลังจะสามารถลดการใช้และนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศได้ปีละมหาศาล" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 28 พฤษภาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=163356