กรมประมงพัฒนาห้องปฏิบัติการสู่มาตรฐานสากล เป้าเพิ่มมูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำไทย
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 52
กรมประมงพัฒนาห้องปฏิบัติการสู่มาตรฐานสากล เป้าเพิ่มมูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำไทย
ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรมประมงได้ลงนามบันทึกความตกลง ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ เกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาห้องปฏิบัติการกรมประมงสู่มาตรฐานสากล
คือมาตรฐานที่เป็นการประเมินความสามารถทางวิชาการของห้องปฏิบัติการ โดยครอบคลุมทุกด้านของการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่การเตรียมตัวอย่าง ความชำนาญในการวิเคราะห์ทดสอบ การเก็บบันทึก และการรายงานผลมาตรฐานนี้เน้นองค์ประกอบหลายด้านแต่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ด้านเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการ การควบคุมเอกสาร การปฏิบัติการแก้ไขและป้องกัน สถานที่และภาวะแวดล้อม เครื่องมือ การประมาณค่าความไม่แน่นอน หลักฐานการสอบกลับได้ การสุ่มตัวอย่างและอื่น ๆ ซึ่งเรียกขานกันสั้น ๆ ว่า ISO/IEC 17025 โดยโครงการความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 2 ปี
และมีข้อตกลงความร่วมมือ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.) โครงการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ให้มีความรู้ ความเข้าใจขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในระบบมาตรฐานสากล เพื่อที่จะได้นำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องจนสามารถพัฒนางานห้องปฏิบัติการได้อย่างเป็นระบบ 2.) โครงการที่ปรึกษาห้องปฏิบัติการ โดยผู้เชี่ยวชาญกรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำการปฏิบัติงานสำหรับห้องปฏิบัติการกรมประมง เพื่อการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และ 3.) โครงการเตรียมตัวอย่างทดสอบความชำนาญ เพื่อทดสอบความสามารถในการวิเคราะห์สำหรับห้องปฏิบัติการกรมประมง
ซึ่งคาดว่าทั้ง 3 โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยเสริมสร้างศักยภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบสินค้าประมงเพื่อการส่งออก ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาตรฐาน
สำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการ สู่ระบบมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องดำเนินงาน อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบควบคุมตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำ ซึ่งกรมประมง ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 จนกระทั่งปี 2548 จึงประสบความสำเร็จ มีห้องปฏิบัติการถึง 4 แห่ง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO ด้านการตรวจวิเคราะห์มากกว่า 20 รายการ อาทิ การตรวจวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะ สารตกค้าง สารปนเปื้อน และเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค เป็นต้น
และต่อมาในปี 2550 จึงได้ขยายการพัฒนาสู่ห้องปฏิบัติการ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบวัตถุดิบสัตว์น้ำ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพิ่มอีก 12 แห่ง ขณะนี้ ห้องปฏิบัติการดังกล่าว อยู่ในระหว่างการตรวจรับรองจากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ยังได้มีการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ จำนวน 123 คน จาก 58 แห่งทั่วประเทศ ให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบมาตรฐานสากลของห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้ผ่านการอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนางานห้องปฏิบัติการได้เป็นอย่างดี
“นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแก้ปัญหาทางวิชาการในการกีดกันทางการค้าและเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท อันจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำของไทยแก่นานาประเทศ” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=200347&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า